ตลาดไอทีเวียดนาม: โอกาสของธุรกิจไทยในการลงทุนและจ้างงานแบบ BPO

ตลาดไอทีเวียดนาม: โอกาสของธุรกิจไทยในการลงทุนและจ้างงานแบบ BPO

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ม.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,599 view

ตลาดไอทีเวียดนาม: โอกาสของธุรกิจไทยในการลงทุนและจ้างงานแบบ BPO

เป็นที่ทราบดีว่าประเทศที่เป็นผู้นำด้านการจ้างงานคนนอกดำเนินธุรกิจบางส่วนหรือที่คุ้นหูกันในชื่อ BPO (Business Process Outsourcing) คือ อินเดีย ฟิลิปปินส์ และจีน ไม่ว่าจะเป็นการบริการในรูปแบบ call centers การบริการด้านธุรการ การออกแบบและวิศวกรรมซอฟท์แวร์ ฯลฯ ในขณะที่เวียดนามกำลังถูกจับตามองจากนานาประเทศในฐานะตลาด BPO โดยเฉพาะในด้านไอทีที่มีศักยภาพและกำลังเติบโต กอปรกับความพร้อมด้านแรงงานไอทีที่มีคุณภาพและราคาสมเหตุสมผล ทำให้เวียดนามกำลังก้าวขึ้นมาทัดเทียมรุ่นพี่อย่างประเทศอินเดีย จีนและฟิลิปปินส์

เวียดนามมีปัจจัยพื้นฐานที่สนับสนุนการเติบโตและการพัฒนาด้านไอทีอย่างก้าวกระโดด ได้แก่ (1) นโยบายของรัฐบาลเวียดนามที่สนับสนุนการศึกษา STEM (Science, Technology, Engineering and Math) อย่างจริงจัง รวมถึงการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในการผลิตแรงงานไอทีให้ได้ 1 ล้านคนภายในปี 2563 ซึ่งตามสถิติปี 2561 เวียดนามสามารถผลิตบุคลากรด้านไอทีได้มากกว่าปีละ 40,000 คน (2) คุณลักษณะของแรงงานเวียดนามที่ทุ่มเท ขยันและตอบรับและปรับตัวต่อเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงมีวัฒนธรรมการทำงานที่ยืดหยุ่นกว่าบุคลาจากประเทศอื่น (3) ภาคเอกชนด้านไอทีมีการบ่มเพาะบุคลากรด้านไอทีในระดับอาชีวะอย่างต่อเนื่อง เช่น กลุ่มบริษัท Viettel และ MISA โดยเฉพาะกลุ่ม FPT ผู้ดำเนินธุรกิจด้านโทรคมนาคมรายใหญ่ ซึ่งได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยเน้นการเรียนการสอนสายวิชาชีพ (FPT University) ที่มุ่งบ่มเพาะบุคลากรด้านคอมพิวเตอร์และซอฟท์แวร์โดยเฉพาะ (4) การขยายลงทุน FDI ของบริษัทด้านเทคโนโลยีในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง เช่น Intel, IBM, Samsung, LG, Sharp, และ Microsoft ทำให้การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมด้านวิจัยและพัฒนาทางเทคโนโลยีเติบโตสูงตามไปด้วย และ (5) ค่าแรงบุคลากรด้านไอทีของเวียดนามที่ถูกกว่าอินเดียประมาณร้อยละ 30-50 ด้วยเหตุปัจจัยดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รวมถึงไทยหันมาใช้บริการ BPO โดยเฉพาะด้านไอทีจากเวียดนามเป็นทางเลือกมากขึ้น

 

งานสัมมนาด้าน IT Outsourcing ที่จัดขึ้นในนครโฮจิมินห์

 

ผลการจัดอันดับด้านเทคโนโลยีและไอทีของเวียดนามดีขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

นอกจากปัจจัยด้านต่างๆ ตามที่กล่าวข้างต้น เมื่อหันมาดูการจัดอันดับของสถาบันและบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศ จะพบว่าเวียดนามได้รับการจัดอันดับในด้านที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและไอทีสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญและอยู่ในอันดับต้นๆ ของภูมิภาค จากแบบสำรวจ CIO Global Survey ของบริษัท KPMG เมื่อปี 2562 พบว่า เวียดนามอยู่ในอันดับต้นๆ ในด้านการรับมือกับการพัฒนาเทคโนโลยีได้ดีที่สุด โดยเป็นอันดับที่ 2 จาก 108 ประเทศในด้านการวางนโยบายรับมือความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี และเป็นอันดับที่ 3 ในด้านการประยุกต์ใช้เครื่องมืออัตโนมัติ (Automation) สำหรับปฏิบัติงานในหน่วยงานเพิ่มขึ้นมากที่สุด ทั้งนี้ ภาคธุรกิจในเวียดนามที่จัดสรรงบประมาณสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีไว้มากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมบันเทิง ภาคบริการด้านการเงิน และสื่อต่างๆ นอกจากนี้ ผลจากการสำรวจมหาวิทยาลัยและหน่วยงาน/ธุรกิจด้านไอทีต่างๆ กว่า 150 แห่ง พบว่าร้อยละ 88 คาดการณ์ว่าธุรกิจด้านไอทีในเวียดนามจะเติบโตอีกอย่างน้อยร้อยละ 15 ต่อปี ในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า และ World Economic Forum ได้จัดลำดับให้เวียดนามอยู่ใน 10 ประเทศอันดับต้นที่มีผู้สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมซอฟท์แวร์มากที่สุดในโลก

 

มหาวิทยาลัย FPT ที่ก่อตั้งโดยบริษัท FPT ใน ค.ศ. 2006 ปัจจุบันมี 4 แห่งในเวียดนาม ได้แก่ กรุงฮานอย นครโฮจิมินห์ นครดานังและนครเกิ่นเทอ

 

ทิศทางในอนาคต BPO ในเวียดนาม ความท้าทายและโอกาส

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ธุรกิจด้านไอทีของเวียดนามได้ปรับตัวจากการเขียนโปรแกรมและเขียนโค้ด (coding) มาสู่การให้บริการที่หลากหลายมากขึ้น เช่น การสร้างผลิตภัณฑ์ด้านไอทีและใช้เทคโนโลยีในการสร้างมูลค่าเพิ่มในห่วงโซ่การผลิตโดยเฉพาะในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิตที่เพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทต่างชาติหันมาจ้างงานคนนอก (outsource) ที่เป็นบุคลากรด้านไอทีจากเวียดนามมากขึ้น โดยเฉพาะสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยี บริการด้านการเงิน การใช้เทคโนโลยีในสื่อและเกมส์ รวมถึงการวิจัยเทคโนโลยีแขนงใหม่ อาทิ AI, Machine Learning และ Blockchain เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เวียดนามยังคงเผชิญความท้าทายสำคัญ อาทิ ถึงแม้ว่าบุคลากรเวียดนามจะมีความรู้ความสามารถด้านไอที แต่ยังขาดทักษะในการสื่อสารโดยเฉพาะภาษาอังกฤษเมื่อเทียบกับบุคลากรจากฟิลิปปินส์และอินเดีย นอกจากนี้ เทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ให้บริการ BPO ต้องปรับตัวและพัฒนาบริการของตนให้เท่าทัน โดยเน้นบริการระดับกลางและสูง และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนควรจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาด้านเทคโนโลยีภายในหน่วยงานให้มากขึ้น และสร้างพื้นที่สำหรับการระดมความคิด (discussion platform) สำหรับนักพัฒนาด้านเทคโนโลยีด้วย

สุดท้ายนี้ ตามสถิติเมื่อปี 2560 รายได้จากธุรกิจ BPO ของเวียดนามคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 1 ของ GDP ของประเทศ มูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งยังน้อยกว่าอินเดีย จีนและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ อาทิ ฟิลิปปินส์ ซึ่งมีมูลค่าธุรกิจ BPO กว่า 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐอยู่มาก และเป็นตลาดธุรกิจ BPO ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยด้านความพร้อมด้านทรัพยากรมนุษย์ การสนับสนุนที่จริงจังจากภาครัฐ การลงทุนจากต่างชาติที่เพิ่มสูงขึ้น และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าตลาดด้าน BPO และไอทีของเวียดนามจะมีโอกาสเติบโตสูงขึ้นอย่างมากในอนาคต จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการจ้างงานคนนอกและสรรหาบุคลากรเพื่อดำเนินงานให้บริการด้านไอทีและพัฒนาเทคโนโลยีด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น tech solution หรือซอฟท์แวร์    ซึ่งไทยยังมีบุคลากรด้านไอทีภายในประเทศอย่างจำกัด เพื่อไทยและเวียดนามจะเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจร่วมกันอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

*******************

ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทย ณ นครโฮจิมินห์

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์

*สามารถติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจในเวียดนามได้ทาง https://bit.ly/2QKPrkZ หรือ http://www.thaiembassy.org/hochiminh/th

 

ข้อมูลอ้างอิง

- https://www.vir.com.vn/vietnam-has-potential-to-become-the-next-bpo-giant-55752.html

- https://www.forbes.com/sites/forbestechcouncil/2018/05/29/it-outsourcing-hotspot-vietnam-a-small-but-mighty-powerhouse/#626048bf54fc

- https://savvycomsoftware.com/vietnam-it-outsourcing-opportunity-or-challenge/