ภาพรวมเศรษฐกิจเวียดนาม

ภาพรวมเศรษฐกิจเวียดนาม

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 พ.ย. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 11,575 view

ภาพรวมเศรษฐกิจเวียดนาม


1.ข้อมูลเศรษฐกิจเวียดนาม ปี 2550

- การขยายตัวทางเศรษฐกิจ

>ร้อยละ 8.48

- มูลค่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP)

ประมาณ 73.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

- รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากร/ปี

835 ดอลลาร์สหรัฐ

- มูลค่าการส่งออก

48.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

- มูลค่าการนำเข้า

60.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

- ขาดดุลการค้า

12.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

- มูลค่าการลงทุนต่างชาติ (FDI) (รวมตั้งแต่ปี 2531)

83.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

- มูลค่า FDI ปี 2550

20.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

- นักท่องเที่ยวต่างชาติ

4.3 ล้านคน

- รายได้จากการท่องเที่ยว

3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

- สำรองเงินตราต่างประเทศ

ประมาณ 20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

- ดัชนีราคาผู้บริโภค

เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.63

- อัตราแลกเปลี่ยน (สิ้นเดือน ธ.ค. 50)

16,030 ด่อง/ 1 ดอลลาร์สหรัฐ


เศรษฐกิจ เวียดนาม ในปี 2550 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา สถานะทางด้านการคลังมีเสถียรภาพ มีเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งในตลาดทุน (portfolio inflows) 6-7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และในโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยโครงการที่ผ่านความเห็นชอบปี 2550 มีมูลค่าสูงถึง 20.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ดำเนินโครงการแล้ว 4.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มจากปี 2549 ร้อยละ 69.1 รวมทั้งเงินส่งกลับประเทศจากชาวเวียดนามโพ้นทะเลตามช่องทางที่เป็นทางการก ว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (มากกว่าร้อยละ 5 ของ GDP ของ เวียดนาม และมากเป็นลำดับ 4 สำหรับประเทศเอเชียรองจากอินเดีย จีน และฟิลิปปินส์) เงินความช่วยเหลือด้านการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (ODA) จากประเทศต่างๆ และรายได้จากการที่มีชาวต่างชาติไปท่องเที่ยวและดำเนินธุรกิจใน เวียดนาม มากขึ้น (เพิ่มจากปี 2549 ร้อยละ 17)

การไหลเข้าของเงินทุนจากต่าง ประเทศจำนวนมากอย่างต่อเนื่องส่งผลให้สำรองเงินตราต่างประเทศของ เวียดนาม เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเกือบ 2 เท่าในรอบปีที่ผ่านมา (จาก 11.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเดือน ธ.ค. 2549 เป็นกว่า 20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อสิ้นปี 2550) ทำให้รัฐบาล เวียดนาม มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการดำเนินนโยบายด้านการเงิน รวมถึงการดูแลระดับอัตราแลกเปลี่ยน ถึงแม้ เวียดนาม มีหนี้ต่างประเทศค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับ GDP แต่ส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาวในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของรัฐบาล

ในด้านการค้า การส่งออกของ เวียดนาม มีมูลค่ารวม 48.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวจากปี 2549 ร้อยละ 21.5 แต่การนำเข้ามีมูลค่ารวม 60.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.5 ทำให้เวียดนาม ขาดดุลการค้าสูงถึง 12.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 25 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของ เวียดนาม โดยมูลค่าการขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นจากปี 2549 ถึง 2.4 เท่าตัว 
ปัญหาทาง เศรษฐกิจสำคัญที่มีผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนคือ ค่าครองชีพใน เวียดนาม ได้เพิ่มขึ้นสูงมาก โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.63 จากปลายปี 2549 ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มที่สูงกว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันอัตราเงินเฟ้อ ได้แก่ ราคาน้ำมัน เหล็กท่อน และอุปสงค์ด้านการบริโภคสินค้าและการบริการต่างๆ ที่เพิ่มสูงมาก การขึ้นเงินเดือนขั้นต่ำทั่วไป (จาก 28 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 34 ดอลลาร์สหรัฐในต้นปี 2551) การขยายตัวของสินเชื่อในระบบเศรษฐกิจเพิ่มจากร้อยละ 26 ในปี 2549 เป็นกว่าร้อยละ 40 ในเดือน ธ.ค. 2550 รวมทั้งผลจากการที่รัฐบาลพยายามควบคุมระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินด่องไม่ให้ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

ทางด้านสังคม-เศรษฐกิจ ถือได้ว่า เวียดนาม ประสบความสำเร็จสูงในการลดปัญหาความยากจน โดยสามารถลดอัตราความยากจนของประชากรเหลือร้อยละ 14.87 จากร้อยละ 19 ในปี 2549 และสามารถสร้างงานได้เพิ่ม 1.68 ล้านตำแหน่ง แม้จะกำลังประสบปัญหาด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวโยงกันเพิ่มขึ้น ได้แก่ การย้ายถิ่นของประชากรเข้าสู่เมือง ช่องว่างระหว่างคนรวย-คนจน และอาชญากรรมเพิ่มสูงขึ้น

แม้สภาพเศรษฐกิจ เวียดนาม ในภาพรวมมีความแจ่มใส แต่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้เตือนให้รัฐบาล เวียดนาม ดำเนินนโยบายการคลังที่รอบคอบและไม่ใช้จ่ายเกินตัว กำหนดมาตรการดูดซับสภาพคล่อง (sterilization) ส่วนเกินในระบบที่เหมาะสม เพื่อให้เงินไหลเข้าก่อให้เกิดประโยชน์แก่ระบบเศรษฐกิจในระยะยาว และเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

2.เป้าหมายทางเศรษฐกิจในปี 2551 รัฐบาลเวียดนาม ตั้งเป้าหมายไว้ดังนี้

1.เศรษฐกิจ ขยายตัวร้อยละ 8.5 – 9 มูลค่า GDP เพิ่มเป็น 83 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรเพิ่มเป็น 960 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี เพื่อให้ เวียดนาม พ้นสถานะเป็นประเทศที่มีรายได้ต่ำ (ธนาคารโลกจัดให้ประเทศที่รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรต่ำกว่า 875 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี อยู่ในกลุ่มเป็นประเทศที่มีรายได้ต่ำ)

2. ให้ มูลค่าการผลิตด้านการเกษตร ป่าไม้ และประมงเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5–4 ด้านอุตสาหกรรมแลการก่อสร้างเพิ่มร้อยละ 10.6-11 และด้านการบริการเพิ่มร้อยละ 8.7-9.2

3. ปรับ โครงสร้าง GDP เพื่อลดสัดส่วนมูลค่าด้านการเกษตร ป่าไม้และประมงจากร้อยละ 20 ในปี 2550 เหลือร้อยละ 19.8 เพิ่มสัดส่วนมูลค่าด้านอุตสาหกรรมและการก่อสร้างจากร้อยละ 41.8 ในปี 2550 เป็นร้อยละ 42.2 และเพิ่มสัดส่วนมูลค่าด้านการบริการจากร้อยละ 38.2 ในปี 2550 เป็นร้อยละ 38.5

4. เพิ่ม มูลค่าการส่งออกเป็น 57.6-58.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20-22 จากปี 2550 โดยลดการขาดดุลการค้าให้เหลือประมาณ10.8 -10.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ ร้อยละ 18.7 ของมูลค่าการส่งออก

5. ให้ มูลค่ารวมของการลงทุนด้านการพัฒนาเพิ่มเป็น 567.3 ล้านล้านด่อง (35.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือประมาณร้อยละ 42 ของ GDP หรือเพิ่มจากปี 2550 ร้อยละ 22.1 6. รัฐบาลจัดเก็บราย ได้รวม 321.4 ล้านล้านด่อง (20.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 จากปี 2550 และมีรายจ่าย 397.38 ล้านล้านด่อง (24.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 จากปี 2550 โดยให้ขาดดุลงบประมาณไม่เกินร้อยละ 5 ของ GDP 7. ควบคุมการเพิ่มของอัตราเงินเฟ้อให้ต่ำกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

>3.ปัญหาท้าทายของการพัฒนาเศรษฐกิจ

1. อัตราเงินเฟ้อและการขาดดุลการค้า การเพิ่มของดัชนีราคาผู้บริโภคร้อยละ12.63 ในรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งสูงกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้สร้างความกังวลอย่างมากแก่รัฐบาล เวียดนาม ธนาคารชาติของ เวียดนาม ได้ใช้นโยบายการเงินเพื่อดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินในตลาดเงิน โดยให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มสัดส่วนการกันเงินสำรอง และออกมาตรการต่างๆ รวมถึงการออกพันธบัตรให้อัตราดอกเบี้ยที่จูงใจ แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ โดยในปี 2551 เป้าหมายการควบคุมอัตราเงินเฟ้อจะเป็นข้อจำกัดสำคัญสำหรับรัฐบาล เวียดนาม ในการใช้เครื่องมือด้านอัตราแลกเปลี่ยนในการส่งเสริมการส่งออก (เวียดนาม พยายามรักษาระดับค่าเงินด่องไม่ให้แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นปัจจัยสนับสนุนการส่งออก) โดยเชื่อว่าธนาคารชาติ เวียดนาม จะเผชิญแรงกดดันให้ต้องปล่อยให้ค่าเงินด่องเป็นไปตามทิศทางของตลาดมากขึ้น

2. การขาดแคลนแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญ เวียดนาม มีประชากรที่อยู่ในวัยทำงานเป็นสัดส่วนที่สูงมาก แต่ยังไม่สามารถผลิตแรงงานมีทักษะเข้าสู่ตลาดแรงงานเพื่อรองรับกาขยายตัวทาง เศรษฐกิจได้ทัน โดยเฉพาะด้านการเงิน การธนาคาร การจัดการ และการบริการ ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่มีการขยายตัวสูงจากผลของการที่ เวียดนาม เข้าเป็นสมาชิก WTO (ยังขาดอยู่ประมาณ 15,000 อัตราใน 3 ปีข้างหน้า) ส่งผลให้ค่าจ้างแรงงานและอัตราการย้ายงานเพิ่มขึ้นสูงมาก บรรดาประเทศพัฒนาแล้วพยายามผลักดันให้ เวียดนาม เปิดตลาดแรงงานมีทักษะโดยอ้างว่าเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนดังกล่าวและเพื่อ ถ่ายทอดความเชี่ยวชาญแก่แรงงาน เวียดนาม แต่รัฐบาล เวียดนาม ยังลังเลที่จะดำเนินการ

3. พลังงาน การเติบโตทางเศรษฐกิจสูงทำให้ความต้องการด้านพลังงานของ เวียดนาม ขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดย เวียดนาม จะเป็นประเทศผู้นำเข้าถ่านหินใน 2-3 ปีข้างหน้าจากที่เป็นผู้ส่งออกถ่านหินในปัจจุบัน โดยความกังวลของทางการ เวียดนาม เกี่ยวกับความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นในอนาคตสะท้อนให้เห็นจากการที่รัฐบาล เวียดนาม ประกาศนโยบายไม่ส่งออกก๊าซธรรมชาติ ทางการ เวียดนาม ประเมินว่า ในปี ค.ศ. 2020 ซึ่ง เวียดนาม ตั้งเป้าหมายว่าจะยกระดับเป็นประเทศอุตสาหกรรม เวียดนามจะมีความต้องการพลังงานไฟฟ้ารวม 26,000 เมกกะวัตต์ ซึ่งมากกว่าที่สามารถผลิตได้ในปัจจุบันถึง 2 เท่า

4. โครงสร้างพื้นฐาน เวียดนาม ยังต้องพัฒนา/ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนา เศรษฐกิจอีกมาก ได้แก่ เส้นทางคมนาคม ทั้งถนน ทางรถไฟ ท่าเรือ และการผลิตกระแสไฟฟ้า สำหรับโครงการเส้นทางคมนาคมที่มีลำดับความสำคัญสูง ได้แก่ โครงการทางด่วน 244 กม. ระหว่างกรุงฮานอยกับเมือง Lao Cai ติดชายแดนจีน ซึ่งจะอำนวยความสะดวกแก่การขนส่งจากมณฑลยูนนาน-ฮานอย-เมืองท่าไฮฟอง รวมทั้งก่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ภาคเหนือของ เวียดนาม โดย ADB ได้อนุมัติเงินกู้ 1.096 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (จากค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น1.216 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) คาดว่าจะสร้างเสร็จในปี 2555 และโครงการรถไฟความเร็วสูงระหว่างกรุงฮานอยกับนครโฮจิมินห์ ซึ่ง JICA กำลังดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ สำหรับในส่วนที่เป็น soft infrastructure เวียดนาม ยังต้องเร่งพัฒนา/ปรับปรุงระบบกฎหมายให้เป็นมาตรฐานสากล ปฏิรูปองค์กรทางราชการที่มีความรับผิดชอบ โปร่งใส รวมถึงพัฒนาสถาบันและคุณภาพทางการศึกษา และการรักษาพยาบาล และหน่วยงานบริการสังคมอื่นๆ

5. การปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ รัฐบาล เวียดนาม พยายามที่จะดำเนินการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น เอื้ออำนวยต่อการประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก และสนับสนุนภาคเอกชน เวียดนาม ไปลงทุนในต่างประเทศ โดยจะให้มีการลดขั้นตอนการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ อำนวยความสะดวกขั้นตอนด้านภาษี และเร่งกระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อส่งเสริมตลาดทุนของ เวียดนาม อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวยังจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากระบบภาษีของ เวียดนาม มีความซับซ้อนยุ่งยาก ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการลงทุนก็มีการกำหนดสิทธิประโยชน์ทาง ภาษีในรายละเอียดมากเกินไปและขาดเป้าหมายที่ชัดเจน สำหรับกระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ผ่านมาก็ดำเนินไปได้น้อยมากเนื่องจาก ปัญหาการตีมูลค่าทรัพย์สินของรัฐ

6. การพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืน ผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจล้วนแสดงความเชื่อมั่นในอนาคตที่สดใสของเศรษฐกิจ เวียดนาม และเห็นว่า เวียดนาม จะสามารถบรรลุเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 8.5-9 ในปี 2551 ได้โดยไม่ยากนักการพัฒนาของประเทศ เวียดนาม เป็นที่น่าจับตามอง โดยในชั้นนี้อาจกล่าวได้ว่า เวียดนาม เป็นตัวอย่างที่ดี สำหรับประเทศต่างๆ ที่กำลังพยายามลดปัญหาความยากจน อย่างไรก็ตาม การที่ เวียดนาม จะปรับสถานะขึ้นสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับกลางจะทำให้รัฐบาล เวียดนาม ต้องพบกับความท้าทายและต้องใช้ความพยายามมากกว่าการเป็นประเทศที่มีรายได้ ต่ำ โดยที่ผ่านมาหลายประเทศในภูมิภาคได้สะดุดพลั้งพลาดเมื่อปรับเปลี่ยนสถานะจาก ประเทศรายได้เป็นประเทศที่มีรายได้ระดับกลาง จากกับดักการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง แต่เปราะบาง ดังนั้น เวียดนาม จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการปฏิรูปเศรษฐกิจให้มีความมั่นคงและการจัดการ เศรษฐกิจมหภาคอย่างมีประสิทธิภาพ โดยส่งเสริมการเติบโตที่มั่นคงและดำเนินการลดปัญหาความยากจนอย่างจริงจังต่อ เนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการต้านทานความผันแปรของเศรษฐกิจโลก

FDI เป็นส่วนสำคัญมากในการพัฒนาเศรษฐกิจของ เวียดนาม โดยคิดเป็นร้อยละ 40 ของผลผลิตอุตสาหกรรม และร้อยละ 60 ของมูลค่าการส่งออก อย่างไรก็ตาม ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนของ FDI ถึงร้อยละ 70 ได้มุ่งไปที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรบุคคลและโครงสร้างพื้นฐานอย่างมาก ทั้งนี้ UNCTAD ได้เสนอแนะให้รัฐบาล เวียดนาม ทบทวนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับ FDI เพื่อให้ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญมากขึ้นต่อการลงทุนด้านการสื่อสารโทรคมนาคม การขนส่ง การผลิตไฟฟ้า และการศึกษา ขณะเดียวกันให้มีการจัดทำแผนการจัดการด้านแรงงาน เพื่อรองรับความต้องการด้านแรงงานมีทักษะในด้านต่างๆ

 


(แหล่งข้อมูล: รายงานเศรษฐกิจของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย มกราคม 2551)