ภาคใต้เวียดนาม: โอกาสทองการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน ตอนที่ 2

ภาคใต้เวียดนาม: โอกาสทองการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน ตอนที่ 2

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 ก.พ. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,225 view

ภาคใต้เวียดนาม: โอกาสทองการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน ตอนที่ 2

เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราความต้องการใช้พลังงานมากที่สุดในโลก โดยเพิ่มสูงขึ้นกว่า ร้อยละ 11 ต่อปี และคาดว่าจะคงอยู่ในระดับร้อยละ 7.5-8.5 ดังกล่าวไปจนถึงปี 2573 [1] กอปรกับรัฐบาลเวียดนามได้ประกาศแผนแม่บทด้านพลังงานระหว่างปี 2554-2563 และวิสัยทัศน์ถึงปี 2573 เพื่อวางแผนระยะยาวในการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่เติบโตสูงขึ้น โดยในปี 2561 รัฐบาลได้ออกกฎหมายหลายฉบับเพื่อจูงใจและดึงดูดการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน เป็นผลให้นักลงทุนทั้งจากในและต่างประเทศต่างหลั่งไหลเข้ามาลงทุนในเวียดนาม โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางและใต้ซึ่งมีศักยภาพจำนวนมาก (ติดตามบทความ “ภาคใต้เวียดนาม: โอกาสทองการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน” ตอนที่ 1 ได้ทาง http://globthailand.com/vietnam_0126/

 

มาตรการชัดเจนขึ้น เตรียมออกแผนรับซื้อไฟฟ้าระยะยาวและกระแสการใช้ solar rooftop

ในปีนี้ รัฐบาลเวียดนามได้ออกกฎหมายและร่างแนวปฏิบัติหลายประการเกี่ยวกับการปรับอัตราการรับซื้อไฟฟ้าในระยะต่อไปและรายละเอียดขั้นตอนการขออนุญาตการผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ตลอดจนแนวทางส่งเสริมการใช้แผงโซลาร์ติดตั้งบนหลังคาเรือน

เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2562 กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม ได้เสนอร่างแนวทางการส่งเสริมกลไกการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 โดยปรับอัตราการรับซื้อไฟฟ้า (Feed-in-Tariff: FiT) จากเดิมที่ 9.35 เซนต์ / กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง[2] เป็นการกำหนดตามการผันแปรของพื้นที่ ระดับความเข้มของแสงอาทิตย์ และประเภทของโซลาร์ฟาร์ม[3] ซึ่งรวมถึงการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาเรือนด้วย โดยมีค่า FiT เฉลี่ยระหว่าง 6.59 – 9.85 เซนต์ / กิโลวัตต์ชั่วโมง และลดอัตรา FiT ลงในช่วงปีที่ 2 (2563-2564) โดยกำหนดอัตรา FiT ในอัตราที่สูงในพื้นที่ที่มีความเข้มแสงอาทิตย์ต่ำบริเวณภาคเหนือและกำหนดอัตรา FiT ต่ำลงในพื้นที่ที่มีความเข้มแสงอาทิตส์สูงในภาคใต้ เพื่อกระจายการลงทุนไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อโครงการที่กำลังก่อสร้างอยู่ส่วนใหญ่บริเวณภาคกลางและภาคใต้ของเวียดนามที่มีความเข้มของแสงอาทิตย์สูงหากไม่สามารถดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ทันมิถุนายน 2562

กระทรวงอุตสาหกรรมฯ ยังได้ออกประกาศกระทรวงหมายเลข 2 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 กำหนดรายละเอียดทางปฏิบัติสำหรับการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ชัดเจนขึ้นซึ่งต้องผ่านเงื่อนไขต่างๆ ก่อนขออนุมัติการลงทุน อาทิ โครงการต้องถูกบรรจุในแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติ (Power Development Plan: PDP) ก่อน โดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ เช่น โครงการต้องผ่านการประเมินการทดสอบการวัดความเร็วลม ต้องส่งผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิต ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านการใช้พื้นที่ดิน (ห่างจากพื้นที่ชุมชนอย่างน้อย 300 เมตรและพื้นที่สำหรับการผลิตถาวรไม่เกิน 0.35 เฮกตาร์ / เมกะวัตต์) มาตรฐานความปลอดภัยและอุปกรณ์ที่ใช้งาน (อายุจากวันผลิตไม่เกิน 5 ปี) ฯลฯ และต้องได้รับการอนุมัติจากจังหวัดและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคก่อน

ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือกระแสความตื่นตัวของรัฐบาลเวียดนามในเรื่องของการใช้แผงโซลาร์ติดตั้งบนหลังคาเรือน หรือ Solar Rooftop โดยเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2562 กระทรวงอุตสาหกรรมฯ ได้เสนอร่างแนวทางเพิ่มเติมเพื่อกำหนดคำนิยาม รูปแบบ/ ประเภทการติดตั้ง เงื่อนไขและอัตราการรับซื้อ เช่น ตามคำนิยามของ Solar Rooftop แผงโซลาร์ติดตั้งบนหลังคาเรือนจะมีศักยภาพการผลิตไฟฟ้าไม่เกิน 1 เมกะวัตต์      ซึ่งประเด็นที่น่าจับตามองคือจะอนุญาตให้ผู้ติดตั้ง Solar Rooftop สามารถขายส่ง ขายปลีก (เมื่อเหลือจากการบริโภคภายในครัวเรือน) หรือการขายตรงให้กับผู้ใช้เอกชนหรือตัวแทนจำหน่ายและกำหนดอัตราการรับซื้อได้เองโดยไม่จำเป็นต้องจำหน่ายผ่านการไฟฟ้าของรัฐได้ ดังนั้น ในอนาคตน่าจะมีการแข่งขันในเชิงธุรกิจและการเติบโตที่สูง ทั้งนี้ นครโฮจิมินห์เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในด้าน Solar Rooftop ภายในระยะเวลา 6 เดือน (ระหว่างกรกฎาคม-ธันวาคม 2561) มีกระแสความนิยมการติดตั้งแผง Solar Rooftop เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ กว่า 200 หลังคาเรือน ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับเดิมที่ใช้เวลาถึง 3 ปี ในการติดตั้งแผงโซลาร์จำนวน 300 หลังคาเรือน  

 

วิศวกรรมไฟฟ้าและการบริการเป็นโอกาสทางธุรกิจในอนาคต

นอกเหนือจากด้านพลังงานทางเลือกแล้ว ในแผนแม่บทยังกล่าวถึงการส่งเสริมการใช้พลังงานจาก  ถ่านหิน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในสภาวะขาดแคลนและต้องนำเข้าจากต่างประเทศจำนวนมาก และคาดว่าต้องนำเข้าถ่านหินถึง 70 ล้านตันสำหรับการผลิตไฟฟ้าภายในปี 2573 นอกจากนี้ ภายในปี 2567 มีการคาดการณ์ว่าก๊าซธรรมชาติบริเวณชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้และตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจะหมดลง ส่งผลให้ต้องนำเข้านำเข้าก๊าซธรรมชาติ LNG จำนวนมาก รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานอัจฉริยะ ซึ่งรวมถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อควบคุมสายจ่ายไฟ เทคโนโลยีการจัดเก็บไฟฟ้า ระบบประหยัดพลังงาน และระบบวัดและจัดเก็บข้อมูลทางไกล เป็นต้น ดังนั้น นอกเหนือจากโอกาสด้านการลงทุนด้านพลังงานทางเลือกแล้ว การบริการและวิศวกรรมด้านพลังงานในการก่อสร้างและบริการหลังการขาย รวมถึงการส่งออกถ่านหินมายังเวียดนามก็เป็นอีกสาขาหนึ่งที่เป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการไทย

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าร่างแนวนโยบายดังกล่าวยังมิได้ผ่านการอนุมัติของรัฐสภาเวียดนามเพื่อให้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายและยังอยู่ระหว่างการขอรับฟังความคิดเห็น แต่ผู้ค้าและนักลงทุนที่สนใจจะขยายตลาดด้านพลังงานทางเลือกควรศึกษาข้อมูล กฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องล่วงหน้า เพื่อการเตรียมความพร้อม โดยใช้บริการบริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมายที่เชื่อถือได้ ในส่วนของภาครัฐของไทยในประเทศเวียดนาม สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย ตลอดจนสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศของไทยในประเทศเวียดนาม พร้อมสนับสนุนและช่วยเหลือการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนไทยในเวียดนาม

*********************

ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในนครโฮจิมินห์

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์



[1] แผนแม่บทด้านพลังงาน (Master Plan) ระหว่างปี 2554-2563 และวิสัยทัศน์ถึงปี 2573 ตั้งเป้ากำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 129,500 เมกะวัตต์ภายในปี 2573 โดยมาจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำ 27,800 เมกกะวัตต์ จากพลังงานทางเลือก 28,000 เมกะวัตต์ จากพลังงานก๊าซ 19,000 เมกะวัตต์ จากการนำเข้า 2,000 เมกะวัตต์ และจากถ่านหิน 55,000 เมกะวัตต์

[2] บังคับใช้กับโรงพลังงานแสงอาทิตย์ที่ผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ก่อนเดือนมิถุนายน 2562)

[3] เช่น โครงการโซลาฟาร์มประเภททุ่นลอยน้ำ ติดตั้งบนผืนดิน แบบผสมผสาน และแผงโซลาร์ติดตั้งบนหลังคาเรือน