ข่าวเด่นวันที่ 1-10 มิถุนายน 2562

ข่าวเด่นวันที่ 1-10 มิถุนายน 2562

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 มิ.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 691 view

ตลาดอสังหาริมทรัพย์นครโฮจิมินห์จ่อฟื้นตัวหลังรัฐบาลท้องถิ่นทบทวนกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2562 ตลาดซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในนครโฮจิมินห์อยู่ในภาวะซบเซา ต่างจากช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ DKRA Vietnam ระบุว่า ในช่วง 5 เดือนดังกล่าวมีการขายที่ดินไปเพียง 500 แปลง เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ซึ่งมีการขายที่ดินถึง 4,000 แปลง และมีการเปิดตัวโครงการอพาร์ตเมนต์ไปเพียง 15 โครงการ รวมจำนวน 3,000 ห้อง เทียบกับ 10,000 ห้องในช่วงเดียวกันของปี 2561 รัฐบาลท้องถิ่นจึงมีนโยบายแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคการดำเนินโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์กว่า 124 แห่งซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มการขยายตัวของอะพาร์ตเมนต์ เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ยังไม่พบการเปิดตัวโครงการใหม่ ๆ ในพื้นที่ฝั่งตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่ทำเลทองในช่วงหลายปีที่ผ่านมาและเกิดขบวนการต้มตุ๋นขายโครงการที่ไม่มีอยู่จริงในเขต 7, 9 และ 12 รวมถึงปัญหาการใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์ในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในเขตเกษตรกรรมซึ่งผิดกฎหมายในพื้นที่เขต 12 ซึ่งหน่วยงานท้องถิ่นได้เตือนประชาชนมิให้หลงเชื่อการโฆษณาขายที่ดินดังกล่าว

นาย Le Hoang Chau ประธานสมาคมอสังหาริมทรัพย์แห่งนครโฮจิมินห์เปิดเผยว่าปัจจุบัน มีจำนวน อพาร์ตเมนต์ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่=ปี 2552 เนื่องจากนครได้จำกัดการออกใบอนุญาตสำหรับโครงการใหม่ อีกทั้งมีหลายโครงการที่กำลังรอการตรวจสอบที่ดินและสถานะทางกฎหมาย ส่งผลให้ความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี เป็นเหตุให้ราคาที่ดินและที่พักอาศัยเพิ่มขึ้น อย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในพื้นที่ใกล้ใจกลางเมือง เช่น เขต Phu Nhuan และ Binh Thanh เป็นต้น

ข้อมูลจากนิตยสารการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ Dau Tu Bat Dong San ระบุว่า บ้านพักอาศัยใกล้ใจกลางเมืองซึ่งเคยมีราคาต่ำกว่า 10,000 ล้านด่ง (ประมาณ 13 ล้านบาท) ปัจจุบันมีราคาถึง 23,000 ล้านด่ง (ประมาณ 30.7 ล้านบาท) หรือประมาณ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ราคาเฉลี่ยของอพาร์ตเมนต์ในเขต 9 เพิ่มขึ้นจาก 24 ล้านด่ง (ประมาณ 32,000 บาท) ต่อตารางเมตรในปี 2561 เป็น 29 ล้านด่ง (ประมาณ 39,000 บาท) และในเขต 2 จากเดิม 35 ล้านด่ง (ประมาณ 47,000 บาท) ต่อตารางเมตรเป็น 40 ล้านด่ง (ประมาณ 53,000 บาท) ซึ่งเป็นสัญญาณว่าธุรกิจดังกล่าวจะฟื้นตัวได้ดีขึ้นหลังจากซบเซานานกว่า 5 เดือน และสอดคล้องกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญหลายรายที่เห็นว่าความต้องการในตลาดอสังหาริมทรัพย์ในนครโฮจิมินห์เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการย้ายฐานการผลิตของธุรกิจต่างชาติจากจีนมาเวียดนามสืบเนื่องจากสภาวะสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ

แหล่งที่มา : Vietnam Investment Review – VIR วันที่ 31 พฤษภาคม 2562
URL : https://www.vir.com.vn/real-estate-market-set-for-recovery-as-hcm-city-stream lines-regulations-68181.html

 

การลงทุนจากต่างประเทศในนครโฮจิมินห์ในช่วง 5 เดือนแรกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 49

ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤษภาคม 2562 นครโฮจิมินห์สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ได้แล้วกว่า 2.77 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 8.6 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 49 เมื่อเทียบกับปี 2561 ซึ่งรวมถึงโครงการที่เพิ่งจดทะเบียนและการเข้าซื้อกิจการในธุรกิจท้องถิ่น

โครงการใหม่ ๆ ที่ดึงดูดการลงทุนมากที่สุด คือ โครงการภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนกว่า 472 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 46.7 รองลงมา คือ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร้อยละ 23.4 และธุรกิจค้าปลีกร้อยละ 16.8 ในขณะที่การลงทุนโดยการเข้าซื้อกิจการโครงการอสังหาริมทรัพย์ก็ครองสัดส่วนส่วนสูงสุดที่ร้อยละ 23.7 ตามด้วยธุรกิจค้าปลีกร้อยละ 18.7 และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร้อยละ 14.7

นาย Nguyen Thanh Phong ประธานคณะกรรมการประชาชนนครโฮจิมินห์ เผยว่าจำเป็นต้องปรับปรุงขั้นตอนการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการอนุมัติโครงการที่รอการลงทุนเพิ่มเติม และในการประชุมส่งเสริมการลงทุนในนครโฮจิมินห์ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 นครโฮจิมินห์ได้เรียกร้องการลงทุนกว่า 5.38 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท) ใน 210 โครงการ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม

อนึ่ง จากสถิติของกระทรวงวางแผนและการลงทุน (MPI) พบว่าในปี 2561 นครโฮจิมินห์สามารถดึงดูด FDI มูลค่า 5.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 8.6 หมื่นล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 16.7 ของทั้งประเทศ และเป็นอันดับ 2 รองจากกรุงฮานอย

ที่มา : VnExpress International วันที่ 5 มิถุนายน 2562

URL : https://e.vnexpress.net/news/business/economy/hcmc-s-five-month-foreign-investment-surges-49-pct-3934154.html?fbclid=IwAR0jagoUKTJF9w7qLO63snf5LxhKB-msaiqdqBfKskHhax0GM9Zz7PXpH6E

 

ภาคใต้ของเวียดนามจะเผชิญปัญหาการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าหลังปี 2563

การไฟฟ้าและพลังงานทดแทนซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม เปิดเผยว่าเวียดนามโดยเฉพาะในตอนใต้กำลังเผชิญปัญหาการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าโดยในปี 2561-2562 ไม่ปรากฎการสำรองพลังงานไฟฟ้าและคาดว่าในปี 2564 จะขาดแคลนพลังงานถึง 3,700 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) และจะมากถึง 1 หมื่นล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ในปี 2565 เนื่องมาจากความล่าช้าของโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจำนวนมากทางภาคใต้เช่น โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซ Block B – O Mon โครงการ Ca Voi Xanh (Blue Whale)โครงการ O Mon III และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน Kien Giang 1 และ 2 ในขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หลายร้อยโครงการ ซึ่งแม้จะก่อสร้างแล้วเสร็จแต่ก็ยังมิได้เชื่อมต่อกับระบบสายส่งไฟฟ้าเนื่องจากปัญหาการเงินและโครงสร้างพื้นฐาน

ทั้งนี้ ในแผนแม่บทด้านพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าคาดว่าในปี 2563 เวียดนามจะสามารถผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ได้ทั้งหมด 2.35 – 2.45แสนล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) โดยในช่วงปี 2562 – 2563 มีแผนที่จะให้บริการพลังงานไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนถ่านหิน โรงไฟฟ้าพลังน้ำ และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน รวม 6,900 เมกะวัตต์ (MW) ในขณะที่ ณ วันที่ 30 พฤษภาคม 2562 มีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้เชื่อมต่อกับระบบสายส่งไฟฟ้าส่วนกลางแล้ว 47 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 2,300 เมกะวัตต์ (MW) และคาดว่าโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อีกจำนวน 49 โครงการจะสามารถเชื่อมต่อระบบสายส่งแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2562 ซึ่งจะทำให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 5,000 เมกะวัตต์ (MW)

อย่างไรก็ดี การผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวยังตอบสนองความต้องการในภาพรวมได้เพียงระยะสั้น กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้ายังต้องการการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมจากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงอีก 1,700 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงในปี 2562 และเพิ่มเป็น 5,200 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงในปี 2563 เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของทั้งประเทศ ในขณะที่ผู้ผลิตไฟฟ้าอาจจะประสบปัญหาเนื่องจากไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือขาดแคลนวัตถุดิบ เช่น ถ่านหินและก๊าซซึ่งจะส่งผลให้เวียดนามเสี่ยงต่อการขาดแคลนพลังงานภายหลังปี 2563

ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างปี 2559 – 2573 เวียดนามมีศักยภาพกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมประมาณ 80,500 เมกะวัตต์ต่ำกว่าเป้าหมายในแผนแม่บทด้านพลังงานถึง 15,200 เมกะวัตต์ ซึ่งส่งผลให้เกิดสภาวะขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าประมาณ 17,000 เมกะวัตต์ โดยเฉพาะในช่วงระหว่างปี 2560 – 2565

ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนาย Hoang Quoc Vuong รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าได้เสนอให้รัฐบาลซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมจาก สปป. ลาวและจีน รวมทั้งกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าที่เหมาะสมและมีข้อเสนอเพื่อดึงดูดการลงทุนในภาคพลังงานในเวียดนามให้มากขึ้นเพื่อให้เวียดนามมีพลังงานไฟฟ้าเพียงพอในอนาคต

แหล่งที่มา: The Saigon Times (7 June 2019)

https://english.thesaigontimes.vn/68873/vietnam-may-face-power-supply-shortage-after-2020.html