ข่าวเด่นวันที่ 11-20 กรกฎาคม 2562

ข่าวเด่นวันที่ 11-20 กรกฎาคม 2562

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ก.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 656 view

ข้อตกลงการค้าเสรี EVFTA สร้างโอกาสการเติบโตอย่างก้าวกระโดดให้กับอุตสาหกรรมสิ่งทอเวียดนาม

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2562 เวียดนามและสหภาพยุโรปได้ลงนามข้อตกลงการค้าเสรีร่วมกันภายหลังการเจรจา 9 ปีมีผลให้ผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของเวียดนามที่ปัจจุบันต้องเสียภาษีร้อยละ 9.6 จะลดลงเป็นร้อยละ 0 ภายใน 7 ปี นาย Truong Van Cam ประธาน Vietnam Textile and Apparel Association (VITAS) สมาคมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเวียดนาม เปิดเผยว่า เวียดนามส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มซึ่งส่วนใหญ่มีโรงงานอยู่ทางภาคใต้ของเวียดนามไปยังสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่อันดับสองของเวียดนามในอัตราร้อยละ 7-10 ต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 15 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมดของเวียดนามโดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 10 เท่า มูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และจะมากถึง 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่นเดียวกับนาย Pham Hong Hai ผู้บริหาร HSBC Vietnam คาดว่าGDP ของเวียดนามจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ต่อปี จากข้อได้เปรียบทางการค้าในความตกลงการค้าเสรี EVFTA อย่างไรก็ดีมีความกังวลว่าผลประโยชน์ทางการค้าที่จะเกิดขึ้นจะถูกผูกขาดโดยบริษัทใหญ่ภายในประเทศ อาทิ Saigon, TNG, และ Viet Tien Garment และบริษัทต่างประเทศ

ทั้งนี้ นาย Than Duc Viet รองผู้อำนวยการทั่วไปของบริษัท Viet Dragon Securities กล่าวว่า บริษัทฯ มีแผนที่จะส่งเสริมซัพพลายเออร์ผู้ผลิตเส้นด้ายภายในประเทศให้ปฏิบัติตามกฎแหล่งกำเนิดสินค้าเพื่อให้ได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากข้อตกลงฯ ขณะที่นาย Thi Thu Trang ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก(WTO) และศูนย์การการห่วงโซ่อุปทานประจำสภาอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามกล่าวว่า เวียดนามยังมีความท้าทายที่จะปฏิบัติตามกฎมาตรฐานคุณภาพและกฎแหล่งกำเนิดสินค้า ซึ่งข้อตกลงฯกำหนดไว้ที่ร้อยละ 40 ของสินค้าขั้นสุดท้ายอย่างไรก็ตามคาดว่าข้อตกลงดังกล่าวจะทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้าพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมสนับสนุนภายในของเวียดนามมากขึ้น

อ้างอิงจาก VNExpress วันที่ 28 มิถุนายน 2562

https://e.vnexpress.net/news/business/evfta-opportunity-for-textile-sector-to-grow-by-leaps-and-bounds-3944913.html?fbclid=IwAR0XZv32xgEb2FlRXN-4bcq_Pam5MeK7pe-kAQuY84xhVRNiRLl1eRk1er8

 

ผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างสนามบินนานาชาติ Long Thanh เสร็จสมบูรณ์แล้ว

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2562 บริษัทการท่าอากาศยานของเวียดนาม (ACV) เปิดเผยว่าการศึกษาความเป็นไปได้ของการก่อสร้างโครงการสนามบินนานาชาติ Long Thanh ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัด Dong Nai เสร็จสมบูรณ์แล้วเมื่อเดือนมิถุนายน 2562 ซึ่งเร็วกว่าที่ระบุไว้ในสัญญาระหว่างบริษัท ACV และกลุ่มที่ปรึกษาอันประกอบด้วย บริษัทญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และเวียดนามโดย ACV ได้รายงานต่อกระทรวงคมนาคมเวียดนามเป็นที่เรียบร้อย ลำดับต่อไปในเดือนตุลาคม กระทรวงคมนาคมจะเสนอรายงานต่อรัฐบาลและสมัชชาแห่งชาติเพื่อพิจารณาและขออนุมัติในที่ประชุมในขณะเดียวกัน การศึกษาความเป็นไปได้ในระยะแรกที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยสถาบันวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและศูนย์สิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยาประยุกต์ก็แล้วเสร็จตามกำหนดเช่นกัน ซึ่งคณะกรรมการการประเมินและตรวจสอบแห่งรัฐจะพิจารณาก่อนส่งไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป

ตัวแทนของ ACV รายงานว่ารัฐบาลของจังหวัด Dong Nai มีเป้าหมายจะปรับสภาพพื้นที่ และก่อสร้างอาคาร 2 แห่ง ในชุมชน Loc An และ Binh Son ของอำเภอ Long Thanh รวมถึงเวนคืนที่ดินจากประชาชน เพื่ออำนวยความสะดวกในการก่อสร้างระยะแรกในปีนี้ ซึ่งมีกำหนดการแล้วเสร็จในปี 2568 ประกอบด้วยรันเวย์ 1 แห่งและอาคารรองรับผู้โดยสารจำนวน 25 ล้านคนและรองรับสินค้า 1.2 ล้านตันต่อปี สนามบินนานาชาติ Long Thanh ถือเป็นโครงการสำคัญระดับชาติโดยเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 สมัชชาแห่งชาติได้อนุมัติให้ก่อสร้างตามมาตรฐาน 4F ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศและมีกำหนดการการก่อสร้าง 3 ระยะโดยเมื่อก่อสร้างเสร็จสิ้นสนามบินดังกล่าวจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 100 ล้านคน พร้อมกับสินค้ากว่า 5 ล้านตันต่อปี

อ้างอิงจาก The Saigon Times วันที่ 16 กรกฏาคม 2562

https://en.thesaigontimes.vn/tinbaichitiet/69823/

 

สายการบินใหม่อาจเผชิญกับแรงกดดันด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการบิน

ธุรกิจสายการบินในเวียดนามกำลังคึกคักเนื่องจากมีสายการบินใหม่ๆ เปิดตัวมากมาย จึงเกิดความกังวลว่า สนามบินหลักในประเทศอาจประสบปัญหาในการรองรับผู้โดยสารและการนำเครื่องเข้า – ออกเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ เนื่องจากสายการบินใหม่มีแนวโน้มที่จะเปิดเส้นทางเชื่อมต่อกับสนามบินหลัก โดยจากสถิติของการบินพลเรือนของเวียดนาม (CAAV) ระบุว่าเวียดนามมีสนามบินทั้งสิ้น 22 แห่งซึ่งสนามบินหลักในประเทศหลายแห่งกำลังประสบปัญหาการรองรับจำนวนผู้โดยสารเกินกว่าขีดความสามารถของอาคารสนามบิน เช่น ในปี 2561 สนามบิน Tan Son Nhat มีจำนวนผู้โดยสารเกินขีดความสามารถที่รองรับได้ 10.3 ล้านคน และสนามบินนานาชาตินคร Da Nang มีจำนวนผู้โดยสารเกินถึง 3.2 ล้านคน

นาย Vo Huy Cuong รองผู้อำนวยการของ CAAV เปิดเผยว่าธุรกิจสายการบินในเวียดนามควรเพิ่มการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของสนามบิน เช่น ทางวิ่ง (runways) หลุมจอด และทางขับ (taxiways) ของเครื่องบินเพื่อตอบสนองความต้องการจากการเติบโตของธุรกิจสายการบิน และยังเสนอให้สายการบินลดเที่ยวบินระยะสั้น (ภายในประเทศ) โดยหันไปให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศแทน ทั้งนี้ แม้นักลงทุนจะให้ความสนใจในโครงการก่อสร้างและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของสนามบินเป็นอย่างมาก แต่นาย Vu Pham Nguyen Tung ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการของบริษัท Vietjet Airเปิดเผยว่าการลงทุนในสายการบินยังมีอุปสรรคสำคัญอยู่ที่กฎระเบียบข้อบังคับในการลงทุน ซึ่งมีความยุ่งยากเพราะการวางแผนเงินลงทุนต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล ทั้งนี้ นาย Vu Tien Loc ประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม (VCCI) กล่าวว่าปัญหาของการลงทุนในสนามบินคือกฎระเบียบการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจึงต้องมีการผ่อนปรนกฎระเบียบดังกล่าวและสิ่งที่สำคัญกว่ากฎระเบียบคือขั้นตอนการบริหารซึ่งจะช่วยให้โครงการลงทุนดำเนินไปได้อย่างราบรื่น

อ้างอิงจาก The Saigon Times วันที่17 กรกฎาคม2562

https://english.thesaigontimes.vn/69845/new-airlines-may-put-pressure-on-airport-infrastructure.html

 

ผู้ส่งออกอาหารทะเลในเวียดนามต้องปฏิบัติตามกฎแหล่งที่มาของสินค้าอย่างเคร่งครัด

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2562สมาคมผู้ผลิตและส่งออกอาหารทะเลเวียดนาม (VASEP) และคณะกรรมการการประมงได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบเชิงบวกในอุตสาหกรรมอาหารทะเลตามข้อตกลง CPTPP และข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) ซึ่งเป็นผลให้ผู้ส่งออกอาหารทะเล ซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาคใต้ของเวียดนามต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดแหล่งกำเนิดและคุณภาพของสินค้าอย่างเข้มงวดเพื่อผลประโยชน์ที่จะได้รับจากข้อตกลงดังกล่าว

นาย Tran Dinh Luan รองอธิบดีกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท กล่าวว่าข้อตกลง CPTPP มีผลบังคับใช้ในเวียดนามเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2562 ทำให้ผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมอาหารทะเลของเวียดนาม อาทิ กุ้งและปลาสวาย ซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาคใต้ของเวียดนามมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง สร้างรายได้จากการส่งออกกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ขณะที่ นาง Le Hang รองผู้อำนวยการศูนย์ VASEP Pro เปิดเผยว่า เวียดนามจะสามารถใช้ประโยชน์จากข้อตกลง CPTPP ขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศสมาชิกอื่นๆ เพิ่มเติมกว่า 10 ประเทศ ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 1 ใน 4 ของผลิตภัณฑ์การส่งออกสัตว์น้ำทั้งหมดของประเทศ ในขณะเดียวกัน สหภาพยุโรปถือเป็นตลาดส่งออกอาหารทะเลที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเวียดนามโดยมีมูลค่าการส่งออกสัตว์น้ำร้อยละ 17 ของทั้งหมด ทั้งนี้ นาง Le Hang ได้ย้ำให้ผู้ประกอบการในประเทศบังคับใช้กฎแหล่งกำเนิดของสินค้า (rules of origin) อย่างเคร่งครัด และเสนอให้กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทและกรมประมงให้คำแนะนำกับเกษตรกรในการใช้เลขรหัสสำหรับฟาร์มกุ้งและปลาสวายเพื่อให้สอดคล้องกับกฎแหล่งกำเนิดสินค้า ซึ่งกฎดังกล่าวเป็นเงื่อนไขภายใต้ข้อตกลงทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งมีความเข้มงวดในการบังคับใช้ โดยหากมีการละเมิดกฎจะถูกลงโทษรุนแรง ซึ่งผู้ประกอบการเวียดนามสามารถแจ้งแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ได้ด้วยตนเอง (self-declare) อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจะถูกเก็บไว้สำหรับการตรวจสอบเป็นเวลา 5 ปี

อ้างอิงจาก The Saigon Times วันที่ 18 กรกฎาคม 2562

https://english.thesaigontimes.vn/69902/seafood-exporters-must-obey-rules-on-origin-traceability-experts.html