วันที่นำเข้าข้อมูล 26 มี.ค. 2563
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
นครโฮจิมินห์ดึงดูดการลงทุน FDI มูลค่ากว่า 480 ล้านดอลลาร์สหรัฐใน 2 เดือนแรกของปี 2563
ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2563 นครโฮจิมินห์มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จาก 32 ประเทศ อาทิ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลี และจีน มากกว่า 480 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นประมาณร้อยละ 47 ของช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562
ทั้งนี้ มูลค่าการลงทุนดังกล่าว แบ่งเป็นการลงทุนในโครงการใหม่ในสาขาธุรกิจต่างๆ เช่น โครงการด้านการค้าเชิงพาณิชย์ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ การก่อสร้างสารสนเทศและสื่อและสุขภาพ 186 โครงการ มูลค่า 83.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ มีการเพิ่มเงินทุนในโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่แล้ว 27 โครงการ มูลค่า 60.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และที่เหลือเป็นการลงทุนในลักษณะเพิ่มทุนและซื้อหุ้นมูลค่าประมาณ 336.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
หากแบ่งตามสาขาธุรกิจ โครงการด้านการค้าเชิงพาณิชย์มีจำนวนมากที่สุด มี 84 โครงการ มูลค่ารวม 53.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นประมาณสองในสามของมูลค่าโครงการลงทุนใหม่ทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ โครงการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 39 โครงการ มูลค่ารวม 13.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 16 โครงการก่อสร้าง 5 โครงการ มูลค่ารวม 5.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 6.9 โครงการด้านการคมนาคมและสารสนเทศ 33 โครงการ มูลค่ารวม 3.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 4.2 โครงการด้านการผลิตและแปรรูป 4 โครงการ มูลค่ารวม 2.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โครงการด้านสาธารณสุข 1 โครงการ มูลค่า 1.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และโครงการด้านการบริการร้านอาหารและที่พักอาศัย 3 โครงการ มูลค่ารวม 1.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
จาก 32 ประเทศที่เข้ามาลงทุนในนครโฮจิมินห์ สิงคโปร์มีการลงทุนมากที่สุด โดยมี 27 โครงการ มูลค่ารวม 28.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาเป็นญี่ปุ่น 19 โครงการ มูลค่ารวม 10.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาเลเซีย 4 โครงการ มูลค่ารวม 10.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จีน 16 โครงการ มูลค่ารวม 7.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เกาหลีใต้ 30 โครงการ มูลค่ารวม 6.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไต้หวัน 16 โครงการ มูลค่ารวม 4.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ที่มา : Vietnamnews วันที่ 9 มีนาคม 2563
URL: https://vietnamnews.vn/economy/653298/hcm-city-records-480m-of-fdi-in-first-two-months.html
ธุรกิจ E-commerce เวียดนามจะมีมูลค่ากว่า 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจ E-commerce เวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมูลค่าการบริโภคออนไลน์เพิ่มขึ้นจาก 3.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2558 เป็น 9.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 ทั้งนี้ บริษัท GlobalData คาดการณ์ว่า ธุรกิจ E-commerce ของเวียดนามจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 16.3 ต่อปีและมีมูลค่ามากกว่า 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท GlobalData ให้ข้อมูลว่า นอกจากวิธีการชำระเงินแบบปกติ อาทิ การชำระเงินผ่านบัตรเครดิต บัตรธนาคาร การโอนเงินและวิธีอื่นๆ แล้ว ปัจจุบัน เวียดนามกำลังมีวิธีการชำระเงินรูปแบบใหม่ๆ ที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภคในด้านความรวดเร็วและความสะดวกอีกด้วย ทั้งนี้ การชำระเงินด้วยเงินสดยังคงเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 36.5 ของธุรกรรมทั้งหมด
ในธุรกิจ E-commerce ในขณะที่วิธีการชำระเงินแบบทางเลือกเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น โดยในปัจจุบันมีสัดส่วนร้อยละ 15.5 โดยตัวกลางการชำระเงินแบบทางเลือกที่ผู้บริโภคนิยมใช้ที่สุด ได้แก่ MoMo (เวียดนาม) รองลงมา ได้แก่ PayPal
บริษัท E-commerce ในเวียดนามได้รับการลงทุนจากต่างชาติจำนวนมาก อาทิ บริษัท Tiki มีการลงทุนจาก บริษัท VNG Corporation มูลค่า 5.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐและจากบริษัท JD.com สัญชาติจีน มูลค่า 44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนบริษัท Sendo มีการลงทุนจากบริษัท SBI Group สัญชาติญี่ปุ่นและบริษัทอื่นๆ มูลค่า 51 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และบริษัท Lazada มีการลงทุนเพิ่มเติมจากบริษัท Alibaba มูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ที่มา: Nhan Dan Online วันที่ 11 มีนาคม 2563
ผู้ส่งออกกุ้งในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงเผชิญความท้าทายท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรค Covid-19
กุ้งถือเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของหลายจังหวัดในภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง และการแพร่ระบาดของโรคCovid-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ส่งออกกุ้ง
ข้อมูลของกรมอุตสาหกรรมและการค้าของจังหวัดบากเลียวและสมาคมผู้ส่งออกและผู้ผลิตอาหารทะเลของจังหวัดก่าเมา ระบุว่ารายได้จากการส่งออกกุ้งของจังหวัดบากเลียวในเดือนมกราคม 2563 อยู่ที่ 62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 ในขณะที่จังหวัดก่าเมาอยู่ที่ 58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 ตามลำดับ
นาย Tran Hoang Em เลขาธิการสมาคมผู้ส่งออกและผลิตอาหารทะเลของจังหวัดก่าเมา กล่าวว่าเมื่อปี 2562 จังหวัดมียอดส่งออกกุ้งมูลค่า 1.15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออกไปจีนมูลค่า 102 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6-7 ของการส่งออกทั้งหมด โดยในเดือนมกราคม 2563 มีการส่งออกไปจีนมูลค่า 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ผู้นำเข้าชาวจีนจำนวนมากได้แจ้งขอระงับการส่งออกจากก่าเมาไปยังจีนชั่วคราว โดยพบว่าการส่งออกอาหารทะเลผ่านการค้าชายแดนทางบกไปยังจีนประสบปัญหาแต่การส่งออกทางน้ำไม่ได้รับผลกระทบมากนัก นอกจากนี้ปริมาณการสั่งซื้อจากจีนได้เริ่มลดลงเช่นกันเนื่องจากข้อจำกัดด้านการขนส่งทำให้ผู้ประกอบการเวียดนามเผชิญปัญหาในการกระจายสินค้า และหากสถานการณ์การระบาดของ Covid-19 ยังคงดำเนินต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้มีการยกเลิกคำสั่งซื้อ ซึ่งจะทำให้ราคากุ้งลดลงและส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร
ทั้งนี้ ภาครัฐจังหวัดบากเลียวและก่าเมาต่างส่งเสริมมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในการผลิตและการส่งออกรวมถึงสร้างความเชื่อมั่นว่าอุปทานผลผลิตกุ้งเพียงพอสำหรับการแปรรูป โดยคาดว่าการส่งออกกุ้งแช่แข็งไปยังออสเตรเลียและตลาดอื่น ๆจะเพิ่มขึ้นในเวลาต่อไป
อนึ่ง สมาคมผู้ส่งออกและผู้ผลิตอาหารทะเลของเวียดนามเผยว่าการนำเข้ากุ้งของสหภาพยุโรปคิดเป็นร้อยละ 31 ของการนำเข้ากุ้งของทั่วโลกรวมกันและเมื่อความตกลงเขตการค้าเสรียุโรป – เวียดนาม (EVFTA) มีผลบังคับใช้ผู้ส่งออกท้องถิ่นจะมีโอกาสในการส่งออกเพิ่มมากขึ้นจากภาษีที่ลดลง แต่ผลผลิตกุ้งของเวียดนามต้องเป็นไปตามข้อกำหนดภายใต้ข้อตกลงทางการค้าดังกล่าวด้วย
แหล่งที่มา: Vietnamnewsวันที่ 12 มีนาคม 2563
อีเมลสถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์
ติดต่อทั่วไป
แผนกเศรษฐกิจ
แผนกกงสุล (หนังสือเดินทาง, นิติกรณ์และทะเบียนราษฎร์, บัตรประชาชน, การตรวจลงตราและรับรองเอกสาร)