วันที่นำเข้าข้อมูล 21 เม.ย. 2563
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
ต้องรอด!: การปรับตัวของ SMEs เวียดนามท่ามกลางการแพร่ระบาดของ COVID-19
ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกคาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจะต่ำลงจนถึงขั้นติดลบในปีนี้เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตและการค้าของทั้งโลก แต่เวียดนามเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่ได้รับการประเมินจากหลายสถาบัน เช่น ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asia Development Bank – ADB) ว่าเศรษฐกิจจะยังคงเติบโตในอัตราที่เป็นบวกกว่าร้อยละ 4.8 ในปี 2563 ขณะที่ในไตรมาสแรก เวียดนามมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 3.8 ซึ่งเติบโตต่ำสุดในรอบ 10 ปี (ร้อยละ 6.8 ในปี 2562)ในขณะที่สถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจและนโยบายเวียดนาม (Viet Nam Institute for Economic and Policy Research: VEPR) ประเมินว่าหากรัฐบาลเวียดนามสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ภายในไตรมาส 2 เศรษฐกิจเวียดนามจะมีโอกาสเติบโตร้อยละ 4.2 ในปี 2563
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการเวียดนามเองก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในครั้งนี้ไม่น้อย โดยองค์กรด้านการวิจัยของรัฐบาลเวียดนามอย่างPrivate Economic Development Research Board คาดการณ์ว่า หากภาวะการระบาดดำเนินต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน จะมีธุรกิจประมาณร้อยละ 74 ที่จะล้มละลายโดยกลุ่มธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ ภาคการเกษตร ธุรกิจการบิน ภาคการบริการการท่องเที่ยว การศึกษา อุตสาหกรรมสิ่งทอและอุตสาหกรรมการผลิตโดยรายงานจากมหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์แห่งชาติเวียดนาม (National Economics University – NEU) พบว่าธุรกิจกว่าร้อยละ 65 ต้องปรับลดค่าใช้จ่ายลง ร้อยละ 35.3 ต้องลดการจ้างและค่าจ้างพนักงานและในไตรมาสแรกมีผู้ประกอบการ 35,000 รายที่ล้มเลิกกิจการซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีผู้ล้มเลิกกิจการมากกว่าการจัดตั้งธุรกิจใหม่ในเวียดนาม ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน เราจึงได้เห็นการปรับตัวของธุรกิจหลากหลายรูปแบบที่น่าสนใจเพื่อความอยู่รอด
Go online ใช้วัตถุดิบใหม่ ปรับกลยุทธ์การขาย
ภาคเกษตรกรรมเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่ก่อนการบังคับใช้มาตรการเว้นระยะทางสังคมเนื่องจากชายแดนทางบกรอบประเทศเวียดนามทั้งจีน สปป. ลาว และกัมพูชาได้ระงับการสัญจรข้ามแดนหรือมีมาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มข้น ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการขนส่งสินค้าทำให้เกิดความล่าช้าและติดขัด โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้เวียดนามไปจำหน่ายในประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ผลไม้หลายประเภทที่เคยส่งออกได้ปริมาณมากในช่วงนี้ เช่น แก้วมังกร ทุเรียน และแตงโมจึงมีสินค้าล้นตลาดและราคาตกต่ำผู้ประกอบการร้านอาหารและบริการหลายรายจึงร่วมมือกับเกษตรกรในการนำผลไม้เหล่านั้นมาแปรรูปใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารอย่างสร้างสรรค์ เช่น ขนมปังที่ใช้ส่วนผสมของแก้วมังกรและทุเรียนของร้าน ABC Bakery บริษัท Duy Anh Foods ผู้ผลิตวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารเวียดนามได้ออกผลิตภัณฑ์วุ้นเส้นแตงโม แป้งห่อปอเปี๊ยะและลูกชิ้นปลาแก้วมังกร โดยสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปเกาหลีใต้ได้ถึง 4 ตันและราคาสูงกว่าผลิตภัณฑ์ปกติร้อยละ 20-30 และบริษัท Lavifood ซึ่งเป็นบริษัทแปรรูปผลไม้ขนาดใหญ่ของเวียดนาม ได้นำแก้วมังกรมาแปรรูปเป็นน้ำมลไม้ 100% จำหน่ายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ โดยประกาศว่าจะบริจาคยอดจำหน่ายน้ำผลไม้กระป๋องมูลค่า 1,000 ด่ง (ประมาณ 1.4 บาท) ต่อกระป๋องให้กับสมาคมที่ช่วยเหลือสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 หรือแม้กระทั่งร้านอาหารจานด่วนอย่าง KFC ก็ได้ออกเมนูเบอร์เกอร์แป้งขนมปังสีชมพูที่ทำมาจากแก้วมังกร
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารที่แปรรูปจากผลไม้
นอกจากนี้ เรายังได้เห็นถึงการปรับตัวของผู้ประกอบการค้าปลีก เช่นห้างค้าปลีก MM Mega Market, Big-C, Coptmart ฯลฯ ร้านอาหาร และร้านกาแฟ ต่างหันมาให้บริการจำหน่ายสินค้าออนไลน์และบริการส่งถึงหน้าประตูบ้าน (delivery to door) มากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังที่รัฐบาลเวียดนามออกคำสั่งฉุกเฉินบังคับใช้มาตรการเว้นระยะทางสังคมตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ซึ่งรวมถึงการสั่งให้สถานบันเทิงธุรกิจด้านร้านอาหารและบริการต่างๆ หยุดดำเนินกิจการชั่วคราวและขอความร่วมมือให้ประชาชนพำนักอยู่ในที่พักและไม่ออกนอกบ้านหากไม่มีความจำเป็นทำให้ผู้ประกอบการต่างๆ ต้องหันมาร่วมมือกับผู้ประกอบการขนส่งสินค้า เช่น Now.vn, Grab, Lalamove, Baemin และ GoVietแม้กระทั่งบาร์ชั้นนำในนครโฮจิมินห์หลายแห่งก็ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการในการส่งค้อกเทลผสมถึงบ้าน พร้อมรับประทาน เพียงแค่เทใส่แก้วและผสมน้ำแข็งเท่านั้นแพลทฟอร์ม E-commerce อย่าง Shopee และ Lazada ก็ได้เพิ่มบริการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคและอาหารสดจากร้านสะดวกซื้อและซุปเปอร์มาร์เกตเป็นผลให้ E-commerce เวียดนามในไตรมาสแรกของปี 2563 เติบโตกว่าร้อยละ 30
แพลทฟอร์มออนไลน์สำหรับชอปปิ้งและจับจ่ายกับข้าวและของสดออนไลน์อย่าง www.foodhub.vn และ www.foodmap.asia ได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้บริโภคกับเกษตกรผู้ปลูกผักผลไม้สดใหม่โดยตรงโดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรชาติพันธ์ต่างๆ บริเวณที่ราบสูงตอนกลางของเวียดนาม นอกจากนี้ บริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์และการเรียนพิเศษออนไลน์ก็เติบโตสูงขึ้น เช่น แอพพลิเคชั่น MedProve และ MED247 ที่ให้บริการปรึกษาอาการเบื้องต้นผ่านการวิดีโอคอล ติดตามอาการ และสามารถนัดหมายแพทย์ล่วงหน้าตามคลินิกและโรงพยาบาลได้ รวมถึงแอพพลิเคชั่น Elsa Speak และ Mestudy ซึ่งเป็น startup รุ่นใหม่ที่ใช้ AI มาประยุกต์ใช้ในการสอนการออกเสียงภาษาอังกฤษและฝึกทำข้อสอบวัดระดับมาตรฐานภาษาอังกฤษ และWORKSVN ซึ่งเป็นแพลทฟอร์มออนไลน์เพื่อเชื่อมผู้จบการศึกษาใหม่กับตลาดการจ้างงาน และยังมีการจัดนิทรรศการ Job Fair ออนไลน์อีกด้วย
บริการส่งสินค้าภายใต้สถานการณ์โรคระบาด
เอกชนปรับ ภาครัฐเสริม: โอกาสรอดของ SMEs เวียดนาม
ในรอบหนึ่งเดือนที่ผ่านมารัฐบาลเวียดนามได้ออกมาตรการด้านต่างๆ ทั้งการเงินและการคลังเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ อาทิ การลดค่าสาธารณูปโภคค่าไฟฟ้า-ประปา การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และผ่อนปรนระเบียบในการเข้าถึงสินเชื่อและแหล่งเงินทุนให้ง่ายขึ้น โดยหนึ่งในมาตรการสำคัญคือการออกกฤษฎีกาหมายเลข 41/2020/ND-CP เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2563 ซึ่งกำหนดขยายเวลาการชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและค่าเช่าที่ดิน เป็นเวลา 5 เดือน สำหรับผู้ประกอบการ ครัวเรือน องค์กร และบุคคลที่ดำเนินธุรกิจในสาขาต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ เช่น เกษตรกร การผลิต การก่อสร้าง การขนส่งและคลังสินค้า การท่องเที่ยวและบริการ และธุรกิจรายย่อยและรายเล็ก (Micro and Small Enterprises) เป็นต้นนอกจากนี้ เรายังเห็นบทบาทขององค์กรด้านการกุศลของเวียดนามได้จัดตั้ง ATM ข้าว 24 ชั่วโมงขึ้นเพื่อช่วยแจกจ่ายข้าวให้คนยากไร้ โดยเริ่มที่นครโฮจิมินห์ และขยายไปยังกรุงฮานอยและหัวเมืองใหญ่ของประเทศ เช่น นครดานังและจังหวัดเถื่อเทียน-เว้
ถึงแม้เวียดนามจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ไม่ต่างจากหลายประเทศทั่วโลก แต่ผู้เชี่ยวชาญของบริษัทหลักทรัพย์และที่ปรึกษาทางธุรกิจหลายแห่งเช่น JLL Vietnam, Vina Capital และ Kantar ยังประเมินว่าเวียดนามจะยังเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะยังอยู่ในแดนบวกในปี 63 และ COVID-19 จะส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจเวียดนามในระยะยาวในแง่ของการค้าและการลงทุนเนื่องจากมีแต้มต่อที่ได้รับประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) และข้อตกลงการค้า CPTPP นอกจากนี้ ความปั่นป่วนของสถานการณ์การค้าโลกและสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะกลับมารุนแรงมากขึ้น กอปรกับนักลงทุนทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มความหลากหลายในประเทศที่ตั้งสำหรับการผลิตและตลาดการส่งออกโดยลดการพึ่งพิงเพียงแห่งเดียวดังที่ผ่านมา จะทำให้ภาวะการย้ายฐานการผลิตจากจีนและประเทศต่างๆ มายังเวียดนามและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความพร้อมดำเนินต่อไป ดังนั้น การปรับตัวของเอกชน ภาครัฐ และประชาชนอย่างรวดเร็วต่อโลกในรูปแบบใหม่ (new normal) ภายหลังสถานการณ์จึงจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะส่งเสริมการฟื้นตัวและสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่าเดิม รวมถึงการดึงดูดการลงทุน เพราะนักลงทุนก็คงอยากจะลงทุนในประเทศที่ “ต้องรอด” เช่นเดียวกันนั่นเอง
********************
ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทย ณ นครโฮจิมินห์
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์
*สามารถติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจในเวียดนามได้ทาง https://bit.ly/2QKPrkZ หรือ http://www.thaiembassy.org/hochiminh/th
อ้างอิง
- https://vietnamnews.vn/economy/674592/vietnamese-economy-to-grow-despite-covid-19-adb.html
- https://enternews.vn/hon-90-phan-tram-doanh-nghiep-chiu-anh-huong-boi-covid-19-170212.html
อีเมลสถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์
ติดต่อทั่วไป
แผนกเศรษฐกิจ
แผนกกงสุล (หนังสือเดินทาง, นิติกรณ์และทะเบียนราษฎร์, บัตรประชาชน, การตรวจลงตราและรับรองเอกสาร)