ข่าวเด่นวันที่ 11-20 พฤษภาคม 2563

ข่าวเด่นวันที่ 11-20 พฤษภาคม 2563

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 พ.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,219 view

เวียดนามมุ่งเป็นผู้ส่งออกหน้ากากอนามัยรายใหญ่

ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ Covid-19 บริษัทเวียดนามหลายรายหันมาผลิตหน้ากากอนามัย เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าและผลักดันให้เวียดนามเป็นผู้ส่งออกผ้าและหน้ากากอนามัยรายใหญ่ของโลก โดยนาย Nguyen Xuan Phuc นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้อนุมัติให้ผู้ประกอบการสามารถส่งออกหน้ากากอนามัยได้โดยไม่จำกัดปริมาณ

นาย Phan Quoc Cong ประธานบริษัท Wakamono Group ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ นครโฮจิมินห์เห็นว่าจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเวียดนามในการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันส่งออกหน้ากากอนามัย เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ในเวียดนามได้เริ่มทุเลาลงแล้ว ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ยังมีความต้องการหน้ากากอนามัยอีกมาก ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ เวียดนามต้องนำเข้าเส้นใยต้านจุลชีพซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับการผลิตหน้ากาก จากจีนร้อยละ 70 และจากอินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซียและประเทศอื่นๆ อีกร้อยละ 30 แต่ในสถานการณ์ Covid-19 ทำให้วัตถุดิบดังกล่าวขาดตลาดและมีราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ปัจจุบันบริษัท Wakamono Group ผลิตผ้าต้านจุลชีพได้วันละ 20 ตันและจำหน่ายแก่โรงงานผลิตหน้ากากอนามัยในเวียดนาม อีกทั้งยังได้รับคำสั่งซื้อจากลูกค้าในไทย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้และประเทศอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก แต่บริษัทก็เน้นจำหน่ายให้แก่โรงงานในเวียดนามก่อนและอยู่ระหว่างการขยายกำลังการผลิตเป็นวันละ 50 ตัน

ทั้งนี้ เมื่อนายกรัฐมนตรีประกาศให้เวียดนามสามารถส่งออกหน้ากากอนามัยได้โดยไม่จำกัดปริมาณ หลายบริษัทได้ลงทุนซื้อเครื่องจักรผลิตหน้ากากอนามัยและชุดป้องกันเชื้อโรคเพื่อส่งออก ซึ่งจะมีส่วนส่งเสริมให้เวียดนามกลายเป็นผู้ส่งออกหน้ากากอนามัยรายใหญ่ของโลก

ที่มา: Viet Nam News วันที่ 7 พฤษภาคม 2563

URL: https://vietnamnews.vn/economy/716351/viet-nam-aims-to-be-major-global-face-mask-producer.html

 

นครดานังตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจทางทะเลของประเทศ

นครดานังเป็นหนึ่งใน 28 จังหวัดของเวียดนามที่ติดทะเลและมีท่าเรือน้ำลึกที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเล โดยนครได้ออกนโยบายและแนวทางในการจัดการ ปกป้องและใช้ประโยชน์จากศักยภาพและจุดแข็งทางทะเลของนครอย่างยั่งยืน

ในปี 2555 กรมการเกษตรและการพัฒนาชนบทนครดานังได้ออกนโยบายส่งเสริมการต่อเรือและส่งเสริมให้ชาวประมงท้องถิ่นทำการประมงนอกชายฝั่งมากขึ้นโดยนอกจากจะอุดหนุนเงินสำหรับการต่อเรือใหม่จำนวน 50 ล้านด่ง - 800 ล้านด่ง (2,129 – 34,076 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อลำแล้ว ยังยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนเรือด้วย ส่งผลให้ตั้งแต่ปี 2555 - 2562 มีการต่อเรือใหม่ขนาดเครื่องยนต์ไม่ต่ำกว่า 400CV ถึง 184 ลำ มูลค่ารวมกว่า 1.2 แสนล้านด่ง (5.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทำให้นครดานังมีเรือประมงรวมทั้งหมดกว่า 1,250 ลำ นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมชาวประมงในการพัฒนาการเก็บรักษาผลผลิต การถ่ายทอดอาชีพ และการใช้อุปกรณ์ที่ทันสมัย

นครดานังสามารถจับสัตว์ทะเลได้ฉลี่ยปีละประมาณ 38,500 - 43,000 ตัน มูลค่า1.5 – 1.75 ล้านล้านด่ง (ประมาณ 6.4 – 7.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และมีการลงทุนด้านโลจิสติกส์ประมงเพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการประมงในภาคกลางของเวียดนาม

นาย Nguyen Lai รองหัวหน้าคณะกรรมการบริหารท่าเรือ Tho Quang เผยว่าท่าเรือซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 62 เฮกตาร์ ได้ลงทุนก่อสร้างท่าเรือประมง ตลาดค้าส่ง และที่พักเรือ มูลค่าประมาณ 1.8 แสนล้านด่ง (7.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วงปี 2547 - 2553 ปัจจุบันสามารถให้บริการเรือปีละกว่า 19,000 ลำและปริมาณสินค้าอาหารทะเลปีละกว่า 100,000 ตัน และกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทได้ร่วมกับนครดานังประกาศแผนการลงทุนอีกมูลค่า 2.17 แสนล้านด่ง (926,136 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อยกระดับและขยายท่าเรือด้วย

นาย Truong Quang Nghia เลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำนครดานังเผยว่า ในการดำเนินการตามข้อมติกรมการเมืองในการพัฒนานครดานังปี 2573และวิสัยทัศน์สู่ปี 2588 นครดานังได้ดำเนินโครงการอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับการพัฒนาโลจิสติกส์และท่าเรือเพื่อเปลี่ยนนครให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจทางทะเลแห่งชาติและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก (EWEC) นอกจากนี้ จะมุ่งเน้นด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอีคอมเมิร์ซรวมทั้งเศรษฐกิจดิจิทัลและศูนย์โลจิสติกส์ โดยตั้งเป้าให้ศูนย์ฯ สามารถขนส่งสินค้าภายในเมืองได้ร้อยละ 25, 30, 34.5 และ 50 ในปี 2563, 2568, 2573 และ 2588 ตามลำดับ รวมทั้งจะยกระดับสนามบินนานาชาติเพื่อรองรับผู้โดยสาร 28-30 ล้านคนและมีความสามารถในการขนส่งสินค้าปีละ 200,000 ตันภายในปี 2573 และเปลี่ยนท่าเรือนครดานังเป็นฐานท่าเรือระดับชาติรวมถึงกำหนดเป้าหมายให้ท่าเรือ Lien Chieu เป็นสถานที่รองรับการขนส่งสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์

นาย Ho Khi Minh รองประธานคณะกรรมการประชาชนนครดานัง เห็นว่านอกเหนือจากภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการทางทะเลแล้วนครดานังจะต้องให้สำคัญกับการเดินเรือ การประมงการพัฒนาพลังงานทดแทน และการพัฒนาท่าเรือที่ทันสมัยสามารถเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานของโลกได้

ที่มา: Vietnam+ วันที่ 11 พฤษภาคม 2563

URL: https://en.vietnamplus.vn/da-nang-eyes-becoming-national-maritime-economy-hub/173111.vnp

 

ท่าเรือนครดานังมีผลกำไรร้อยละ 37 ในไตรมาสแรกของปี 2563

แม้ว่าเศรษฐกิจของเวียดนามจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 แต่บริษัทท่าเรือดานัง Joint Stock Company กลับมีรายได้มูลค่า 2.24 แสนล้านด่ง (9.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในไตรมาสแรกของปี 2563 ส่งผลให้มีผลกำไรขั้นต้น 7 หมื่นล้านด่ง (3.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และผลกำไรหลังหักภาษี 2.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 37 ในขณะที่ปี 2562 บริษัทฯ มีผลกำไรหลังหักภาษี 1.84 แสนล้านด่ง (8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.86 จากปี 2561 ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าในปี 2563 บริษัทจะมีรายได้ 8.55 แสนล้านด่ง (37.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และกำไรหลังหักภาษี 2.4 แสนล้านด่ง (10.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ท่าเรือ Tien Sa ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของท่าเรือนครดานังและเป็นแหล่งเชื่อมต่อโลจิสติกส์ในภูมิภาค โดยเฉพาะระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor – EWEC) สามารถรองรับเรือขนาด 70,000 DWT และเรือสำราญขนาด 150 GT ปัจจุบัน รองรับเรือสินค้าเฉลี่ยสัปดาห์ละ 23 ลำจาก 15 บริษัทตัวแทนเดินเรือ มีจำนวนหุ้นส่วนทั้งหมด 99 ล้านหุ้น มูลค่า 1.35 ล้านล้านด่ง (58.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ถือครองโดยบริษัท Viet Nam National Shipping Lines (VINALINES) ร้อยละ 75 มูลค่า 9.9 แสนล้านด่ง (43.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และบริษัท Wan Hai Lines สัญชาติสิงคโปร์ ร้อยละ 20.26 ทั้งนี้ ในปี 2562 ท่าเรือ Tien Sa รองรับสินค้าทั้งหมด 10.4 ล้านตัน ซึ่งรวมถึงตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุตจำนวน 470,000 ตู้เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.29 เมื่อเทียบกับปี 2561

อนึ่ง ตามข้อมูลของกระทรวงคมนาคมเวียดนาม ท่าเรือนครดานัง ซึ่งประกอบด้วยท่าเรือ Tien Sa, Lien Chieu และ Son Tra จะสามารถรองรับสินค้าได้ปีละ 29 ล้านตันภายในปี 2573

ที่มา: Viet Nam News วันที่ 11 พฤษภาคม 2563

URL: https://vietnamnews.vn/economy/716511/central-city-port-gains-37-per-cent-profit-growth-in-q1.html

 

การชำระเงินผ่านระบบมือถือในเวียดนามจะเพิ่มขึ้น 4 เท่า ใน 5 ปีข้างหน้า

ตามรายงานของสถาบันวิจัยการตลาดระดับโลก International Data Corporation (IDC) และบริษัท Backbase ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีการเงินสัญชาติเนเธอร์แลนด์ Backbase เห็นว่าเมื่อเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์Covid-19 ในปี 2563 เวียดนามจะมีการเปลี่ยนผ่านรูปแบบดิจิทัลในภาคของธนาคารพาณิชย์และคาดว่าบริการธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือจะเพิ่มขึ้น 4 เท่า ภายในปี 2568

นาย Riddhi Dutta ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียบริษัท Backbase กล่าวว่าธนาคารต่างๆจะลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศโดยเฉพาะการให้บริการผ่านโทรศัพท์มือถือและการเปลี่ยนการดำเนินงานของสาขาธนาคารให้เป็นรูปแบบดิจิทัลมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าบนแพลทฟอร์มดิจิทัลที่สูงขึ้น โดยภาคอุตสาหกรรมธนาคารในเวียดนามได้พัฒนายุทธศาสตร์ระยะยาวถึงปี 2568 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาระบบการชำระเงินโดยไม่ใช้เงินสดตลอดจนมุ่งเน้นการบริการและรูปแบบการธนาคารที่เหมาะสำหรับประชากรในชนบทและพื้นที่ห่างไกลที่เข้าถึงบริการธนาคารแบบดั้งเดิมได้ยาก ทั้งนี้ธนาคารรายใหญ่ 8 แห่งในเวียดนามจะให้ความสำคัญกับระบบพื้นฐานธนาคาร (Core Banking System) และการปรับเข้าสู่ระบบดิจิทัลเป็นสิ่งสำคัญ 2 ลำดับต้น โดยคาดว่าระบบอัจฉริยะ (intelligent automation) จะช่วยให้การเปิดบัญชีใหม่ๆ ขยายตัวร้อยละ 50

สถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ทำให้เกิดคำถามถึงความพร้อมของธนาคารในระบบดิจิทัล ซึ่งผลสำรวจจากลูกค้าพบว่าร้อยละ 70 เห็นว่ารูปแบบดั้งเดิมนั้นน่าเบื่อหน่ายอนึ่งรายงานของ IDC ดังกล่าวที่เป็นผลส่วนหนึ่งจากการจัดทำการสำรวจยุทธศาสตร์ด้านธนาคารดิจิทัลของธนาคารในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) 55 แห่งจากตลาดสำคัญ 6 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทยและเวียดนาม รวมถึงสถาบันสินเชื่อ 20 แห่งและบริษัทเทคโนโลยีการเงิน 40 แห่งในระหว่างไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 จนถึงไตรมาสแรกของปี 2563

ที่มา: VN EXPRESS วันที่ 13 พฤษภาคม 2563

URL: https://e.vnexpress.net/news/business/economy/mobile-payments-to-grow-400-pct-in-five-years-4098140.html