ข่าวเด่นวันที่ 1-10 มิถุนายน 2563

ข่าวเด่นวันที่ 1-10 มิถุนายน 2563

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 มิ.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,042 view

นครโฮจิมินห์เตรียมพร้อมรับโครงการ FDI ภายหลังสถานการณ์ COVID-19

สำนักงานสถิตินครโฮจิมินห์รายงานว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 63 นครโฮจิมินห์สามารถดึงดูด FDI มูลค่ารวม 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งจากการลงทุนในโครงการใหม่ การเพิ่มทุนและการซื้อหุ้น

การนิคมอุตสาหกรรมและการแปรรูปเพื่อการส่งออกนครโฮจิมินห์ (Ho Chi Minh City Export Processing and Industrial Zones Authority – HEPZA) เผยสถิติการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมในช่วงดังกล่าวมีมูลค่า 118 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 86 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 62 โดยเป็นโครงการ FDI มูลค่า 65.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นประมาณ 2.58 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 62 ซึ่งคาดว่าหลังช่วง COVID-19 นครโฮจิมินห์จะสามารถดึงดูดโครงการ FDI จากสหรัฐฯ ยุโรปและญี่ปุ่นที่ต้องการย้ายฐานการผลิตมายังเวียดนาม เนื่องจากเวียดนามมีข้อได้เปรียบ ได้แก่ มีทรัพยากรมนุษย์และบริษัทที่สนับสนุนห่วงโซ่การผลิต (supplier) ที่มีคุณภาพ โครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ที่ดีและนโยบายภาครัฐที่พร้อมสนับสนุนนักลงทุน

สถาบันพัฒนศึกษานครโฮจิมินห์ เสนอให้นครโฮจิมินห์คัดกรองโครงการลงทุนจากต่างชาติโดยใช้มาตรฐานที่สูงและให้ความสำคัญกับโครงการด้านเทคโนโลยีขั้นสูง เนื่องจากจะสามารถต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมสาขาอื่นๆ รวมถึงช่วยพัฒนาคุณภาพสินค้าในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ด้วย ทั้งนี้ HEPZA ได้เสนอให้มีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมพิเศษเฉพาะทางเพื่อผลิตวัตถุดิบที่เป็นห่วงโซ่การผลิตสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ โดยภาครัฐเข้ามาดูแลกฎระเบียบเรื่องราคาค่าเช่าที่ดินเพื่อดึงดูดการลงทุนในสาขาเป้าหมาย ในขณะที่กรมอุตสาหกรรมและการค้านครโฮจิมินห์แนะนำให้นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ พยายามดึงดูดโครงการลงทุนที่มุ่งไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาขีดความสามารถในการส่งออก พัฒนาอุตสาหกรรมที่ทันสมัย การลงทุนที่ก่อให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมรวมทั้งการพัฒนาเมืองในส่วนต่อขยายของนครโฮจิมินห์ด้วย

ทั้งนี้ คณะกรรมการประชาชนนครโฮจิมินห์ได้มอบหมายให้กรมการวางแผนและสถาปัตยกรรมร่วมมือกับ HEPZA และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทบทวนแผนนิคมอุตสาหกรรมและเสนอแนวทางจัดตั้งกองทุนพัฒนาที่ดินสำหรับการลงทุน รวมถึงดำเนินการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง พื้นที่กว่า 380 เฮกตาร์ในชุมชน Pham Van Hai เขต Binh Chanh นครโฮจิมินห์ด้วย

ที่มา: Vietnam Net วันที่ 25 พฤษภาคม 2563

URL: https://vietnamnet.vn/en/business/hcm-city-gets-ready-for-new-foreign-investment-wave-post-covid-19-643804.html

 

ภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงต้องการพัฒนาโครงการลงทุนด้านการผลิตและจัดหาน้ำจืดมูลค่า 215 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

คณะกรรมการประชาชนของหลายจังหวัดในภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงได้เสนอให้มีจัดทำโครงการจัดหาแหล่งน้ำจืดสำหรับอุปโภคและบริโภคกว่า 400 แห่ง โดยจะใช้งบประมาณส่วนกลาง 1.6 ล้านล้านด่ง (69.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และงบประมาณท้องถิ่น 2.96 แสนล้านด่ง (12.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งโครงการดังกล่าวจะรองรับการอุปโภคบริโภคน้ำของครัวเรือนจำนวน 860,000 แห่งในช่วงปี 2564-2568 และใช้งบประมาณอีก 5.84 แสนล้านด่ง (25.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อขยายโครงการให้รองรับครัวเรือนเพิ่ม 108,100 แห่งในช่วงปี 2569-2573

ข้อมูลจากกระทรวงการเกษตรและพัฒนาชนบทพบว่าถึงแม้ประชากรร้อยละ 98 ในภูมิภาคสามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดได้ แต่มีเพียงร้อยละ 55 ที่ได้ใช้น้ำสะอาดที่ได้มาตรฐาน ในช่วงปี 2562-2563 ภูมิภาคประสบภัยแล้งและปัญหาการแทรกซึมของน้ำเค็มอย่างรุนแรง โดยมีครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ 96,000 ครัวเรือนและจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ จังหวัดล็องอาน เบ๊นแจ ซอกจางและจ่าวิญ ซึ่งกระทรวงการเกษตรและพัฒนาชนบทเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยการพัฒนาระบบชลประทานในระดับภูมิภาคและระหว่างจังหวัด รวมถึงจะขอความช่วยเหลือจากธนาคารโลกในการพัฒนาน้ำสะอาดควบคู่ไปกับการสร้างระบบนิเวศน์ในชนบทเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในช่วงปี 2564-2568 อีกด้วย

ที่มา: Saigon Times วันที่ 28 พฤษภาคม 2563

URL: https://english.thesaigontimes.vn/76953/mekong-delta-needs-vnd5-trillion-investment-for-freshwater-supply-projects.html

 

ศักยภาพการเติบโตของธุรกิจพลังงานลมในเวียดนาม

เวียดนามเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมเนื่องจากมีความเร็วลมสูงโดยเฉพาะในบริเวณนอกชายฝั่ง และรัฐบาลเวียดนามยังมีนโยบายสนับสนุนซึ่งสามารถดึงดูดความสนใจของนักลงทุนได้จำนวนมาก โดยกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าประเมินว่าเวียดนามมีศักยภาพในการพัฒนาพลังงานลมถึง 475 กิกะวัตต์

เมื่อเดือนมีนาคม 2563 นาย Nguyen Xuan Phuc นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้อนุมัติแผนพัฒนาพลังงานทางเลือกนอกชายฝั่ง ระยะเวลา 5 ปี ระหว่างปี 2564-2568 ประกอบด้วยแผนดำเนินการและนโยบายสำหรับดึงดูดนักลงทุนทั้งจากในและต่างประเทศ โดยจังหวัดบิ่ญถ่วน บักเลียวและก่าเมา ถูกจัดลำดับความสำคัญเป็นลำดับต้นสำหรับการพัฒนาพลังงานลมนอกชายฝั่งภายใต้ยุทธศาตร์การพัฒนาพลังงานแห่งชาติถึงปี 2573 ทั้งนี้ ปัจจุบันรัฐบาลเวียดนามกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับมาตรการสำหรับการให้เช่าพื้นที่ใต้ทะเลและการอนุมัติการลงทุนสำหรับโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่งขนาดใหญ่ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามได้เสนอให้มีการขยายระยะเวลาสำหรับโครงการต่างๆให้ยังได้รับสิทธิ์ใช้อัตรารับซื้อไฟฟ้า (FiT) หากสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ก่อนสิ้นปี 2566 จากเดิมที่ต้องดำเนินการให้ทันภายในเดือนพฤศจิกายน 2564 โดยหาก COD ไม่ทันปี 2566 จะนำอัตรา FiT โดยวิธีเปิดประมูลมาใช้ต่อไป

ปัจจุบันอัตรา FiT สำหรับโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่งได้เพิ่มขึ้นจาก 7.8 เป็น 9.8 เซนต์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงภายหลังจากมีการเรียกร้องจากนักลงทุน ผู้พัฒนาโครงการและรัฐบาลท้องถิ่นใน 9 จังหวัดเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการอนุมัติโครงการ การก่อสร้างและภาวะขาดแคลนแรงงาน ทั้งนี้ คาดว่าในเดือนมิถุนายน 2563 รัฐบาลเวียดนามจะประกาศแผนพัฒนาพลังงานฉบับที่ 8 ซึ่งจะเน้นการพัฒนาพลังงานทางเลือกมากขึ้น เนื่องจากเวียดนามมีความต้องการบริโภคพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยกำหนดเป้าหมายขยายศักยภาพกำลังการผลิตพลังงานลมจากเดิม 2 กิกะวัตต์ในปี 2568 เป็น 6 กิกะวัตต์ และจากเดิม 6 กิกะวัตต์ในปี 2573 เป็น 10 กิกะวัตต์ นอกจากนี้ รัฐบาลยังพิจารณาให้บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าและภาคเอกชนสามารถทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโดยตรงได้ (Direct Power Purchase Agreement – DPPA) โดยสามารถซื้อขายไฟฟ้าปริมาณ 400-1,000 เมกะวัตต์จากโครงการพลังงานลมหรือแสงอาทิตย์ที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้ามากกว่า 30 เมกะวัตต์ ที่ระดับแรงดันไฟฟ้า 22 กิโลโวลต์หรือมากกว่า ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยดึงดูดการลงทุนในภาคพลังงานทางเลือกได้มากขึ้นอีก

ในปีที่ผ่านมา บริษัท Enterprise Energy (สิงคโปร์) มีแผนการก่อสร้างโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่งอำเภอ Ke Ga จังหวัดบิ่ญถ่วน กำลังการผลิต 3.4 กิกะวัตต์ ซึ่งจะเป็นโครงการพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีได้เสนอให้บรรจุโครงการดังกล่าวในแผนพัฒนาด้านพลังงานแห่งชาติด้วย ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบันเวียดนามมีโครงการพลังงานลมที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างกำลังการผลิตรวม 900 เมกะวัตต์และอยู่ในแผนอีก 13 กิกะวัตต์ และคาดการณ์ว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมของเวียดนามจะเติบโตจาก 375 เมกะวัตต์ในช่วงปลายปี 2562 เป็น 2.5 กิกะวัตต์ภายในปี 2572

ที่มา: Vietnam Net วันที่ 30 พฤษภาคม 2563

URL: https://e.theleader.vn/enterprize-energy-gets-greenlight-for-12-billion-offshore-wind-farm-1560597296097.htm