วันที่นำเข้าข้อมูล 1 ก.ค. 2563
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
อุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งในจังหวัดก่าเมาเริ่มฟื้นตัว
คณะกรรมการประชาชนจังหวัดก่าเมารายงานว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563 จังหวัดมีรายได้จากการส่งออกกุ้งลดลงร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ทั้งนี้ ภายหลังจากสถานการณ์ COVID-19 ในเวียดนามบรรเทาลง อุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งของจังหวัดเริ่มฟื้นตัวและมีรายได้จากการส่งออกกุ้งเพิ่มขึ้น โดยมีราคากุ้งปรับตัวสูงขึ้นด้วย อาทิ กุ้งขาวมีราคากิโลกรัมละ 86,000 ด่ง (กิโลกรัมละ 3.7 ดอลลาร์สหรัฐ) สูงกว่าราคาช่วงกลางเดือนมีนาคมร้อยละ 20 ส่วนกุ้งกุลาดำมีราคาเพิ่มขึ้นกิโลกรัมละ 10,000-15,000 ด่งเมื่อเทียบกับราคาช่วงกลางเดือนมีนาคม
กรมอุตสาหกรรมและการค้าจังหวัดก่าเมาให้ข้อมูลว่า ตลาดส่งออกกุ้งหลายแห่ง อาทิ จีน ญี่ปุ่นและประเทศในทวีปยุโรปเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมสถานการณ์ COVID-19 และเริ่มนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศอีกครั้งแล้ว ในขณะเดียวกัน ผู้ส่งออกกุ้งรายใหญ่อย่างอินเดียและอินโดนีเซียกลับได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ผลิตและส่งออกกุ้งได้ลดลงและเป็นโอกาสที่ดีของจังหวัดก่าเมาในการขยายอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้ง
ในการนี้ คณะกรรมการประชาชนจังหวัดฯ ได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกระตุ้นเกษตรกรให้ปรับรูปแบบการทำฟาร์มเลี้ยงกุ้งเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงและจัดทำรายงานคาดการณ์แนวโน้มตลาดให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์ด้วย นอกจากนี้ คณะกรรมการประชาชนจังหวัดฯ ยังกระตุ้นให้ธุรกิจกลับมาดำเนินการค้ากับคู่ค้าในประเทศที่สถานการณ์ COVID-19 บรรเทาลงแล้วและขยายตลาดไปยังประเทศอื่นๆ ด้วย
อนึ่ง จังหวัดก่าเมาเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีพื้นที่ทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม ประมาณ 302,000 เฮกตาร์และส่งออกกุ้งมูลค่าปีละ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ที่มา: Vietnam News วันที่ 15 มิถุนายน 2563
URL: https://vietnamnews.vn/economy/738130/ca-mau-shrimp-industry-picks-up.html
เวียดนามส่งเสริมการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยอพาร์ทเมนท์ราคาย่อมเยา
กระทรวงการก่อสร้างเวียดนามได้ประกาศในงานสัมมนาเรื่องแนวทางการฟื้นฟูตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศภายหลังสถานการณ์ COVID-19 ว่าจะเพิ่มการลงทุนในโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อสังคม (social housing) และร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นในการก่อสร้างที่อยู่อาศัยลักษณะดังกล่าวสำหรับแรงงานในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ โดยได้เสนอให้รัฐบาลเวียดนามพิจารณาแก้ไขกฤษฎีกาหมายเลข 100 ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 ว่าด้วยกระบวนการการลงทุนและพัฒนา social housing เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินการและดึงดูดการลงทุนในโครงการดังกล่าวมากขึ้น นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังมีแผนเพิ่มนโยบายจูงใจเพื่อส่งเสริมการลงทุนพฒนาที่พักอาศัยราคาย่อมเยาสำหรับผู้มีรายได้ต่ำ เนื่องจากขณะนี้มีอุปทานที่พักอาศัยราคาระดับกลางถึงสูงมากกว่าอุปทานที่พักอาศัยราคาย่อมเยา เช่น ออกมาตรการกระตุ้นการพัฒนาอพาร์ทเมนท์เชิงพาณิชย์ที่มีพื้นที่ไม่เกิน 75 ตารางเมตรและราคาต่ำกว่า 20 ล้านด่ง (ประมาณ 858 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อตารางเมตร เป็นต้น
ผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์เห็นว่าระยะเวลาในการฟื้นฟูตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศขึ้นอยู่กับภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศและนโยบายภาครัฐด้วย ประเภทอสังหาริมทรัพย์ที่มีแนวโน้มฟื้นฟูได้เร็ว ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม ที่พักอาศัยราคาถูก ที่ดิน อพาร์ทเมนท์หรูและอาคารพาณิชย์ ส่วนอสังหาริมทรัพย์ประเภทสำนักงานและรีสอร์ทจะใช้เวลานานกว่า ถึงแม้ภาครัฐได้ออกมาตรการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ นโยบายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาเขตเศรษฐกิจหลัก นิคมอุตสาหกรรมและการปฏิรูปกฏหมายและการดำเนินการภาครัฐ อย่างไรก็ดี ภาครัฐยังต้องแก้ปัญหาด้านกฎหมายที่ดิน กระบวนการแข่งขันราคาและให้เช่าที่ดินของภาครัฐ การเวนคืนที่ดินและการเปลี่ยนวัตถุประสงค์การใช้ที่ดิน เป็นต้น
อนึ่ง ในไตรมาสแรกของปี 2563 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเวียดนามสามารถดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ได้ 264 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.08 ของมูลค่าการลงทุน FDI ทั้งประเทศ มีโครงการลงทุน 56 โครงการ ประกอบด้วยอพาร์ทเมนท์กว่า 20,000 หน่วยที่สามารถดำเนินการก่อสร้างต่อไปได้ และมี 55 โครงการ ประกอบด้วยอพาร์ทเมนท์กว่า 18,000 หน่วยที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ และมีโครงการที่ต้องหยุดก่อสร้างชั่วคราวเพิ่มขึ้นร้อยละ 94.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ซึ่งโครงการส่วนใหญ่อยู่ในเมือง/นครขนาดใหญ่ เช่น นครโฮจิมินห์ กรุงฮานอย นครดานัง เป็นต้น
ที่มา: Vietnam Net วันที่ 15 มิถุนายน 2563
URL: https://vietnamnet.vn/en/business/state-to-encourage-construction-of-cheap-apartments-648916.html
การติดตั้งแผงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาในนครโฮจิมินห์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ปัจจุบัน โครงการพัฒนาแผงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (solar rooftop) ในนครโฮจิมินห์กำลังได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการจำนวนมาก เนื่องจากภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนจำนวนมาก โดย การไฟฟ้านครโฮจิมินห์ (EVN HCMC) ตั้งเป้าหมายให้นครโฮจิมินห์มีสัดส่วนการใช้พลังงานทางเลือกเป็นร้อยละ 1.75 ของการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดในนครระหว่างปี 2558-2563 ซึ่งปัจจุบัน การใช้พลังงานทางเลือกในนครฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2 หรือประมาณ 100 เมกะวัตต์ โดยประกอบด้วยพลังงานไฟฟ้าจากขยะมูลฝอยประมาณ 5 เมกะวัตต์และส่วนเป็นไฟฟ้าที่เหลือผลิตจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา
จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 นครโฮจิมินห์มีโครงการแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา 7,341 แห่ง มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 94.49 เมกะวัตต์ และตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา นครฯ ได้ผลิตไฟฟ้าป้อนเข้าสู่โครงข่ายไฟฟ้าแห่งชาติแล้ว 33.33 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง โดยเป็นผลผลิตจากแผงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา 102 โครงการ มีกำลังการผลิตระหว่าง 100-1,000 กิโลวัตต์ชั่วโมงและได้ผลิตไฟฟ้าเข้าสู่โครงข่ายไฟฟ้าแห่งชาติ 37.23 เมกะวัตต์ ซึ่ง EVN HCMC ได้ตั้งเป้าหมายให้นครฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาทั้งหมด 200 เมกะวัตต์ โดยเน้นการพัฒนาโครงการสำหรับภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ในปี 2560 มีโครงการแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันมีต้นทุนที่ลดลงจาก 5 ดอลลาร์สหรัฐ/วัตต์เป็น 0.21-0.23 ดอลลาร์สหรัฐ/วัตต์ในปัจจุบันเมื่อเทียบกับ 10 ปีที่แล้วโดยลดลงประมาณ 20 เท่า
อนึ่ง ตามกฤษฎีกาหมายเลข 13 โครงการแผงพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์บนหลังคาที่เริ่มดำเนินการก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2563 จะได้รับอัตรารับซื้อไฟฟ้า (FiT) ที่ 8.38 เซนต์สหรัฐ/กิโลวัตต์ ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงภายหลังวันดังกล่าวทำให้มีผู้ประกอบการจำนวนมากที่เร่งดำเนินการโครงการตนเองเพื่อให้ดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ทันกำหนดการ ทั้งนี้ บริษัท SolarBK หนึ่งในผู้บริการด้านแผงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาได้ตั้งข้อสังเกตว่ากำหนดอัตรา FiT ดังกล่าวจะกระทบครัวเรือนหรือนักลงทุนที่ต้องการขายไฟฟ้าเข้าสู่โครงข่ายไฟฟ้าแห่งชาติเท่านั้น แต่ไม่กระทบต่อศูนย์การค้าและภาคอุตสาหกรรมการผลิตเนื่องจากมีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าจำนวนมากจึงติดตั้งแผงพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์เพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจเท่านั้น
ที่มา: Nguoi Lao Dong Online วันที่ 15 มิถุนายน 2563
URL: https://nld.com.vn/kinh-te/dien-mat-troi-tai-tp-hcm-tang-toc-20200614213717459.htm
บริษัท Samsung ย้ายฐานการผลิตจอภาพมอนิเตอร์ส่วนใหญ่มายังนครโฮจิมินห์
บริษัท Samsung Vina Electronics ประกาศว่าจะย้ายฐานการผลิตจอภาพมอนิเตอร์จากจีนมายังเวียดนาม โดยจะตั้งอยู่ในพื้นที่เดิมของโรงงาน Samsung CE Complex ที่นิคมอุตสาหกรรม Saigon Hi-tech Park เขต 9 นครโฮจิมินห์และจะพัฒนาห่วงโซ่การผลิตจอภาพกว่า 40 รุ่นในโรงงานดังกล่าว ซึ่งเมื่อย้ายฐานการผลิตมาเสร็จสิ้นแล้ว เวียดนามจะกลายเป็นหนึ่งในฐานการผลิตจอภาพ Samsung ที่ใหญ่ที่สุดในโลก การย้ายฐานผลิตมายังเวียดนามจะช่วยให้ผู้บริโภคเวียดนามได้ใช้เทคโนโลยีจอภาพที่ทันสมัยเปผ็นกลุ่มแรกและในขณะเดียวกัน จะช่วยให้บริษัทฯ ขยายฐานผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย
อนึ่ง ข้อมูลจากบริษัทสำรวจการตลาด IDC พบว่าบริษัท Samsung เป็นผู้ผลิตจอภาพมอนิเตอร์รายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม โดยในไตรมาสแรกของปี 2563 จอภาพขนาด 24 นิ้วของบริษัท Samsung มีส่วนแบ่งการตลาดถึงร้อยละ 34 ของตลาดผู้บริโภคในเวียดนาม
ที่มา: Saigon Times วันที่ 20 มิถุนายน 2563
อีเมลสถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์
ติดต่อทั่วไป
แผนกเศรษฐกิจ
แผนกกงสุล (หนังสือเดินทาง, นิติกรณ์และทะเบียนราษฎร์, บัตรประชาชน, การตรวจลงตราและรับรองเอกสาร)