วันที่นำเข้าข้อมูล 7 มี.ค. 2560
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 6 พ.ย. 2563
ข่าวเด่นวันที่ 6 มีนาคม 2560
1. ญี่ปุ่นจัดตั้งห้องวิจัยปฎิบัติการหุ่นยนต์ให้แก่นครโฮจิมินห์
ภาพที่ 1 แบบจำลองโครงสร้างห้องวิจัย
รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศว่าจะช่วยเหลือเงินกู้ 100 ล้านเยน (ประมาณ 20 พันล้านด่ง) ซึ่งในจำนวนนั้น 41 ล้านเยน เป็นเงินช่วยแบบให้เปล่าเพื่อจัดตั้งห้องวิจัยปฎิบัติการหุ่นยนต์ที่พื้นที่อุตสาหกรรม Saigon Hi-Tech Park
จุดประสงค์ของการจัดตั้งโรงงานนี้เพื่อเป็นการพัฒนาระบบหุ่นยนต์และเป็นการพัฒนาความรู้ความสามารถของบุคลากรในการพัฒนาและวิจัยหุ่นยนต์ นอกจากนั้นยังเป็นการถ่ายโอนความรู้และเทคโนโลยีของญี่ปุ่นให้กับนักธุรกิจชาวเวียดนามที่สนใจในด้านหุ่นยนต์
ประธานองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น นาย Sakai Toshifumi กล่าวว่า เวียดนามมีแผนจะลดภาษีของสินค้าจำนวนมากที่นำเข้าจากภูมิภาคอาเซียนภายในปี พ.ศ. 2561 และมีแผนที่จะเปลี่ยนประเทศให้เป็นประเทศอุตสาหกรรมอย่างเต็มตัวในปี พ.ศ. 2563 การพัฒนาบุคลากรและอุตสาหกรรมสนับสนุนเป็นสิ่งที่จะต้องทำโดยเร่งด่วน พวกเราหวังว่าการเข้ามาช่วยเหลือเวียดนามในครั้งนี้จะทำให้ประเทศเวียดนามมีการพัฒนาอุตสาหกรรมไปได้มาก จุดประสงค์ของโครงการนี้ก็คือการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถ และสามารถตอบสนองกับความต้องการของธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงทั้งในนครโฮจิมินห์และจังหวัดใกล้เคียงอื่นๆ
เลขาพรรคคอมมิวนิสต์นครโฮจิมินห์ได้ย้ำหลายครั้งถึงความตั้งใจที่จะทำให้นครโฮจิมินห์กลายเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การค้า การเงิน และเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นครโฮจิมินห์วางแผนที่จะเพิ่มความสามารถในการผลิตจากร้อยละ 5.6 เพิ่มเป็นร้อยละ 6.5 และเพิ่มผลิตภาพรวมให้มากกว่าร้อยละ 36 จากแผนการในระยะปี พ.ศ. 2559 – 2563 ซึ่งตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันนี้ การเพิ่มคุณภาพบุคลากรคือสิ่งที่จำเป็นต้องเริ่มดำเนินการให้เร็วที่สุด
นอกจากนั้น Saigon Hi-Tech Park Training Center ก็ยังได้จับมือกับมหาวิทยาลัย HUTECH มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชั้นนำในนครโฮจิมินห์ เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถของบุคลากรในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี
ที่มา Vnexpress วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560
2. โครงการลงทุนทางด่วน Bien Hoa – Vung Tau ระยะแรก โดยรูปแบบ BOT
โครงการทางด่วน Bien Hoa – Vung Tau เริ่มจากอำเภอเมือง Bien Hoa (จังหวัดด่งนาย) ถึงอำเภอเมือง Tan Thanh (จังหวัดบาเหรี่ยะ-หวุงเต่า) จะถูกลงทุนโดยรูปแบบ BOT (Build – Operation - Transfer) ด้วยมูลค่าเงินลงทุนรวม 8,248 พันล้านด่ง (ยังไม่รวมดอกเบี้ยเงินกู้)
จากรายงานของบริษัท TEDI ในที่ประชุมร่วมกับจังหวัดด่งนาย วันที่ 3 มีนาคม 2560 โครงการทางด่วน Bien Hoa - Vung Tau จะมีความยาวทั้งหมด 46.8 กิโลเมตร และจะแบ่งเป็น 2 ระยะการสร้าง ระยะแรกจะเริ่มจากอำเภอ Bien Hoa – อำเภอ Tan Thanh ระยะทาง 38 กิโลเมตร ระยะที่ 2 จะเริ่มจากอำเภอ Tan Thanh – Vung Tau ระยะทาง 8.8 กิโลเมตร ระยะที่ 1 จะเชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 1A ห่างจาก 3 แยก หวุงเต่า 6.5 กิโลเมตร ห่างจากทางหลวงหมายเลข 51 ประมาณ 1.5 กิโลเมตร และจะเชื่อมต่อกับเขตท่าเรือนานาชาติ Thi Vai – Cai Mep ในจังหวัดบาเหรี่ยะ-หวุงเต่า
กระทรวงคมนาคมประกาศไว้ในปี พ.ศ. 2559 ว่า โครงการระยะที่ 1 จากอำเภอ Bien Hoa – อำเภอ Tan Thanh จะให้เริ่มลงทุนทุนโดยรูปแบบ BOT มูลค่าการลงทุนที่ยังไม่รวมดอกเบี้ยเงินกู้ 8,248 พันล้านด่ง ซึ่งในจำนวนนั้นจะเป็นการเวรคืนที่ดินมูลค่า 3,198 พันล้านดง โครงการระยะแรกจะมีระยะทางรวมไปกลับ 77.56 กิโลเมตร อนุญาตให้รถวิ่งได้ความเร็ว 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมีถนน 6 เลน
คณะกรรมการโครงการ 85 (PMU 85) ที่จัดตั้งโดยกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า คณะกรรมการจะดำเนินการขั้นตอนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้โครงการนี้สามารถเริ่มดำเนินการได้ภายในปี พ.ศ 2561 ซึ่งหลังจากสร้างเสร็จ ทางด่วน Bien Hoa – Vung Tau จะเชื่อมต่อระบบการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ตะวันออกเฉียงใต้ของเวียดนามและจะสามารถตอบสนองความต้องการของธุรกิจในการขนถ่ายสินค้าในนครโฮจิมินห์ จังหวัดบินห์เยือง จังหวัดด่งนาย และเชื่อมต่อกับท่าเรือ Cai Mep – Thi Vai นอกจากนั้น ทางด่วนนี้จะช่วยลดปัญหาการจราจรบนทางหลวงหมายเลข 51 ที่เชื่อมต่อจังหวัดด่งนายเข้ากับอำเภอ Tan Thanh
ในอนาคต ทางด่วน Bien Hoa – Vung Tau จะเป็นโครงการที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและการคมนาคมของภาคใต้ และมีความสำคัญเช่นเดียวกับโครงการท่าเรือน้ำลึก Cai Mep – Thi Vai และสนามบินนานาชาติ Long Thanh
ในปัจจุบัน ทางหลวงหมายเลข 51 คือทางหลวงแห่งเดียวที่เชื่อมต่ออำเภอ Bien Hoa เข้ากับจังหวัดบาเหรี่ยะ-หวุงเต่า จากรายงานของกระทรวงคมนาคม ซึ่งในปัจจุบันระยะทาง Bien Hoa – Phu My มีจำนวนรถหนาแน่นมาก ซึ่งทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดหลายช่วงตัว
ที่มา The Saigon Time วันที่ 5 มีนาคม 2560
3. บริษัทต่างชาติที่ผลิตอาหารกุ้งกำลังทำลายชีวิตความเป็นอยู่ของผู้เพาะเลี้ยงกุ้ง
ภาพที่ 2 ส่วนแบ่งทางการตลาดของอาหารกุ้ง
เป้าหมายในการส่งออกกุ้งให้มีมูลค่า 10 พันล้านด่งจะไม่สามารถทำได้สำเร็จหากกำไรส่วนใหญ่ยังคงเข้ากระเป๋านักลงทุนต่างชาติที่ผลิตอาหารกุ้ง เพราะราคาอาหารกุ้งสูงกว่า 2 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการผลิตทั้งหมด
นาย Nguyen Ngoc Hai ประธานสหกรณ์ประมง Thoi An ในนครเกิ่นเทอให้สัมภาษณ์ว่า ได้เลิกอาชีพการเพาะเลี้ยงกุ้ง เพราะในปี พ.ศ. 2559 เขาขาดทุนกว่า 220,000 ดอลลาหร์สหรัฐ และอาชีพการเพาะเลี้ยงกุ้งเป็นอาชีพที่มีความท้าทายมาก กุ้งที่เพาะเลี้ยงไว้ทั้งหมดสามารถตายจากการติดเชื้อได้ภายในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง และการเลี้ยงกุ้งต้องเลี้ยงอย่างต่ำ 60 – 70 วัน ถึงจะมีกำไร
ราคาค่าอาหารกุ้งที่สูงและราคาคนกลางระหว่างโรงงานและผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทำให้ผู้เพาะเลี้ยงกุ้งไม่มีกำไร ราคาขายส่งอาหารกุ้งในโรงงานมีราคาประมาณ 0.96 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 1 กิโลกรัม แต่หลังจากผ่านพ่อค้าคนกลาง ราคาสามารถสูงขึ้นถึง 1.32 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 1 กิโลกรัม บริษัทผู้ผลิตอาหารกุ้ง (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติ) มักจะจ่ายค่าคอมมิสชั่นสูงให้กับผู้ค้าคนกลางที่สามารถเพิ่มราคาอาหารกุ้งได้สูงและพ่อค้าคนกลางเหล่านั้นสามารถดูดเงินจากผู้เพาะเลี้ยงกุ้งได้เป็นพันล้านด่ง
นาย Nguyen Huy Dien รองผู้อำนวยการสำนักงานการประมง สังกัดกระทรวงการเกษตรและการพัฒนาชนบท ยอมรับว่า หลังจากการตรวจสอบในปี พ.ศ. 2559 ราคาอาหารกุ้งที่ผ่านพ่อค้าคนกลางนั้นมีราคาเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 30 นอกเหนือจากค่าคอมมิชชั่นที่บริษัทให้กับพ่อค้าคนกลางที่ทำผลงานได้อย่างดีเยี่ยมแล้ว พวกเขายังได้รับของขวัญที่มีราคาแพงๆ อย่างเช่น รถยนต์อีกด้วย
ผู้เพาะเลี้ยงกุ้งตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากและไม่เป็นธรรม ในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายด้านวัสดุของอาหารกุ้งตกลง แต่ราคาก็ไม่ได้ลดลงตาม อันที่จริงแล้ว แทนที่บริษัทต่างชาติจะลดราคาลง พวกเขากลับเพิ่มส่วนลดให้กับพ่อค้าคนกลางแทน นั่นคือเหตุผลที่ว่าแม้ว่าราคากุ้งจะสูงขึ้น ผู้เพาะเลี้ยงกุ้งก็ไม่ได้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นเลย ในปี พ.ศ. 2558 การส่งออกกุ้งมีมูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่กลับลดลงเหลือ 3 พันล้านดอลลาร์ในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา
นาย Nguyen Huu Dung ประธานสมาพันธ์สินค้าทะเลเวียดนามย้ำว่า กำไรทั้งหมดตกสู่บริษัทต่างชาติ ในขณะที่ผู้เพาะเลี้ยงกุ้งมีรายได้เล็กน้อยที่สามารถนำมาจ่ายหนี้ได้เท่านั้น
ราคาอาหารกุ้งที่แพงเกินไปก็ได้สร้างความลำบากให้กับการส่งออกกุ้ง เพราะทำให้ราคากุ้งที่ส่งออกของประเทศมีราคา 1 – 2 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 1 กิโลกรัม สูงกว่าราคาการส่งออกกุ้งของประเทศไทย อินเดีย หรืออินโดนีเซีย
เวียดนามมีพื้นที่เพาะเลี้ยงกุ้งในปัจจุบันกว่า 700,000 เฮกตาร์ ซึ่งมีความสามารถในการผลิตกุ้งได้ถึง 660,000 ตัน ต่อปี ซึ่งหากวัดจากปริมาณการผลิตกุ้งที่ผลิตได้ ความต้องการอาหารกุ้งในปัจจุบันจะอยู่ที่ 700,000 – 800,000 ตัน (มีมูลค่าประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และหากเวียดนามอยากที่จะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้คือการส่งออกกุ้ง 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568 ความต้องการอาหารกุ้งจะต้องเพิ่มเป็น 2.1 – 2.4 ล้านตัน ต่อปี (มูลค่าประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ตลาดที่มีมูลค่าเงินมหาศาลเช่นนี้ได้ตกอยู่ในมือของบริษัทต่างชาติเกือบทั้งสิ้นแล้ว ซึ่งบริษัทเหล่านี้สามารถกำหนดราคาให้สูงขึ้นได้ตามความต้องการของตนเอง ผู้เพาะปลูกกุ้งจึงไม่มีทางเลือกและทำได้แค่เพียงทำตามที่บริษัทเหล่านั้นกำหนด
บริษัทใหญ่ๆ ที่เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารกุ้งและมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากมาจากไต้หวันและประเทศจีน อย่างเช่น บริษัท Grobest บริษัท Uni President บริษัท Asia Nutrition Technology Group และบริษัท Tongwei ส่วนบริษัทต่างชาติอื่นๆ เช่น บริษัท CP จากประเทศไทย บริษัท CJ Master จากประเทศเกาหลีใต้ บริษัท Tomboy จากประเทศฝรั่งเศส บริษัท Cargill จากประเทศสหรัฐอเมริกา จากรายงานของผู้เชี่ยวชาญทางด้านการส่งออกอาหารทะเล บริษัทต่างชาติเหล้านี้มีหลายวิธีที่จะโจมตีตลาดเวียดนาม วิธีการแรกคือการโจมตีโดยตรงด้านราคาอาหารกุ้ง วิธีที่สองคือการลงทุนในด้านบริการ ซึ่งจะทำให้บริษัทต่างๆ ขยายเครือข่ายออกไปได้อย่างกว้างขวาง ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Uni President Vietnam ได้ลงทุน 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการเพาะพันธุ์กุ้ง ยุทศาสตร์ของบริษัทคือการผสมอาหารกุ้งเข้ากับการผสมพันธุ์กุ้งและโรงงานแปรรูปอาหารแช่แข็ง
บริษัท Uni President Vietnam เป็นบริษัทในกลุ่มบริษัท Uni President Corporation ซึ่งลงทุนในประเทศเวียดนามมากที่สุดในประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าบริษัทจะไม่ได้ประกาศผลกำไรจากการลงทุน แต่ความเป็นจริงที่ว่าบริษัทได้สร้างโรงงานใหม่ๆ และยกระดับการผลิตก็หมายความว่าพวกเขาได้กำไรอย่างมหาศาล นอกจากนั้น ตามข้อมูลทางการที่ประกาศบนเว็บไซต์ Uni President Vietnam รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 – 60 ระหว่างปี พ.ศ. 2547 – 2550
นาย Nguyen Trong Huy ประธานบริษัท TomKing Aquatic Feedmill Coporation หนึ่งในบริษัทสัญชาติเวียดนามที่หลงเหลืออยู่ในตลาดอาหารกุ้งกล่าวว่า รายได้จากอุตสาหกรรมนี้สูงมาก บริษัทต่างชาติมีข้อได้เปรียบทางด้านเงินทุน วัตถุดิบราคาถูก และประสบการณ์ที่ทำให้เขามีกำไรในอุตสาหกรรมนี้สูง
บริษัทต่างชาติเหล่านี้ได้เริ่มลงทุนมานานแล้ว พร้อมทั้งมียุทธศาสตร์ที่ดี และมีข้อได้เปรียบที่ชัดเจน ทำให้บริษัทต่างชาติสามารถควบคุมกลไกทางตลาดและไม่เหลือช่องว่างให้ผู้แข่งขันภายในประเทศรายใด ซึ่งในปัจจุบัน บริษัท TomKing และ Proconco เป็น 2 บริษัทเวียดนามที่ยังเหลืออยู่ในอุตสาหกรรมนี้
แม้ว่าการส่งออกกุ้งจะสามารถยกระดับสูงถึง 10 หรือ 20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ กำไรส่วนใหญ่ก็ยังคงจะเข้ากระเป๋าของบริษัทต่างชาติ ในขณะที่ผู้เพาะเลี้ยงกุ้งไม่ได้อะไรจากการทำงานหนักเลย นาย Huy ตั้งข้อสงสัยว่าหากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ แล้วเวียดนามจะสามารถประสบความสำเร็จได้จริงๆ หรือไม่ ?
ที่มา Vietnam Investment Review วันที่ 3 มีนาคม 2560
URL: http://www.vir.com.vn/foreign-feed-producer-oligopoly-destroys-livelihood-of-shrimp-farmers.html
****************************
ศูนย์ข้อมุูลธุรกิจไทยในนครโฮจิมินห์
อีเมลสถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์
ติดต่อทั่วไป
แผนกเศรษฐกิจ
แผนกกงสุล (หนังสือเดินทาง, นิติกรณ์และทะเบียนราษฎร์, บัตรประชาชน, การตรวจลงตราและรับรองเอกสาร)