ข่าวเด่นวันที่ 1 - 2 สิงหาคม 2560

ข่าวเด่นวันที่ 1 - 2 สิงหาคม 2560

วันที่นำเข้าข้อมูล 2 ส.ค. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 1 ก.ย. 2564

| 1,328 view

ข่าวเด่นวันที่ 1-2 สิงหาคม 2560

1. การพัฒนาเศรษฐกิจและการสร้างโรงงานกระจกใส Ultra Clear Cut แห่งแรกของประเทศเวียดนามในจังหวัดบ่าเหรี่ยะ-หวุงเต่า

ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2560 นาย Nguyen Xuan Phuc นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้หารือกับคณะผู้บริหารจังหวัดบ่าเหรี่ยะ-หวุงเต่า โดยนาย Phuc ได้กล่าวว่า จังหวัดบ่าเหรี่ยะ-หวุงเต่าเป็นหนึ่งในจังหวัดชั้นนำที่สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้มาก ผู้บริหารจังหวัดคัดกรองนักลงทุนได้อย่างรอบคอบและดีเยี่ยม สามารถป้องกันโครงการที่เสี่ยงต่อการเกิดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม นาย Phuc กล่าวว่า ระบบท่าเรือ การบริหารจัดการโลจิสติกส์ และการท่องเที่ยว ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งสาธารณะและอุตสาหกรรมสนับสนุนที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร

ท่าเรือ Cai Mep-Thi Vai ประสบกับข้อท้าทายหลายประการ เช่น การบริการโลจิสติกที่มีการพัฒนาต่ำ และการบริหารจัดการภาครัฐที่จำกัด โดยท่าเรือสามารถรองรับสินค้าได้เพียงร้อยละ 20 จากกำลังความสามารถที่ถูกออกแบบมา นอกจากนั้น เศรษฐกิจภาคเอกชนยังคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 23.91 ของโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจังหวัด ในขณะที่ทุนจดทะเบียนคิดเป็นร้อยละ 15 และการลงทุนจากต่างชาติคิดเป็นเกือบร้อยละ 41 ของโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจังหวัด

นาย Phuc ได้กระตุ้นให้จังหวัดเตรียมการให้พร้อมสำหรับโครงการใหญ่ที่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัด อาทิ โครงการปิโตรเคมี Long Son และโครงการรีสอร์ท Ho Tram และเร่งเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการให้มีระบบท่าเรือที่ทันสมัยและพัฒนาจังหวัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับชาติ

จังหวัดบ่าเหรี่ยะ-หวุงเต่ามีปริมาณน้ำมันสำรองทั้งหมดร้อยละ 93 และมีปริมาณแก๊สธรรมชาติสำรองร้อยละ 16 ของประเทศ โดยสามารถเก็บรายได้เข้ารัฐกว่า 67,000 ล้านล้านด่ง (ประมาณ 2.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ต่อปี คิดเป็นลำดับที่ 3 ของทั่วประเทศ

นอกจากน้ำมันและแก๊สธรรมชาติแล้ว จังหวัดบ่าเหรี่ยะ-หวุงเต่ายังเป็นหนึ่งในพื้นที่ลงทุนโครงการพลังงาน อุตสาหกรรมหนัก ท่าเรือน้ำลึก การท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ ปัจจุบัน ศูนย์ควบคุมไฟฟ้า Phu My และโรงงานไฟฟ้า Ba Ria สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 4,000 MW จากไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั่วประเทศ 10,000 MW

นอกจากนี้ ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2560 โรงงานกระจกใส Ultra Clear Cut แห่งแรกของประเทศเวียดนามได้เริ่มก่อสร้างโดยบริษัท Phu My Ultra Clear Float Glass ที่นิคมอุตสาหกรรม Phu My 2 เขต Tan Tanh จังหวัดบ่าเหรี่ยะ-หวุงเต่า

บริษัท Phu My Ultra Clear Float Glass จะเริ่มดำเนินการโครงการระยะแรกตั้งแต่บัดนี้จนถึงปี 2561 ด้วยเงินลงทุนรวม 2.6 ล้านล้านด่ง (ประมาณ 114.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถผลิตกระจก Ultra Clear Cut ได้ 600 ตันต่อวัน ส่วนระยะ 2 จะเริ่มสร้างขึ้นในช่วงปี 2562 จนถึงปี 2565 จะทำให้กำลังการผลิตของโรงงานยกระดับเป็น 900 ตันต่อวัน

บริษัท Phu MY Ultra Clear Float Glass Co. Ltd เกิดจากการร่วมทุนกันของบริษัท Viglacera Corporation บริษัท Vietnam Urban and Industrial Zone Development Investment Corporation (IDICO) และกลุ่มบริษัท Kaisheng ด้วยทุนจดทะเบียนมูลค่า 886 พันล้านดอลลาร์ด่ง (ประมาณ 39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

กลุ่มบริษัท Kaisheng Science & Technology สัญชาติจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในสามบริษัทผู้ก่อตั้งบริษัท Phu My Ultra Clear Float Glass ได้ให้สัญญาว่า กลุ่มบริษัทจะทำการซื้อกระจกใสทุกรุ่นจากโรงงานแห่งนี้

โรงงานดังกล่าวเป็นหนึ่งในสองโรงงานผลิตกระจกใส Ultra-Clear Cut ของเวียดนาม โดยโครงการอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดบั้กนิงห์ยังไม่มีการลงทุน

ที่มา สำนักข่าว Voice of Vietnam วันที่ 26 กรกฏาคม 2560

URL: http://english.vov.vn/economy/vietnams-first-ultraclear-float-glass-facility-to-start-construction-355327.vov

 

2. อุตสาหกรรมเบียร์ในภาคใต้ของเวียดนาม

ในปัจจุบัน ร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวียดนามโดยเฉพาะในนครโฮจิมินห์กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากผู้บริโภคในทุกๆ ระดับ

จากรายงานของบริษัท Euromonitor การเพิ่มขึ้นของผู้บริโภคและประชากรวัยรุ่น ซึ่งในแต่ละปีเยาวชนอายุ 18 ปี เพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านคน ทำให้ความต้องการการบริโภคเบียร์นับตั้งแต่ปี 2545 เพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 300 โดยในปี 2559 เงินหมุนเวียนในตลาดเบียร์เวียดนามมีมูลค่ากว่า 147,200 พันล้านด่ง ทั้งนี้ เมื่อคิดปริมาณการบริโภคต่อหัวแล้ว ประชากร 1 คนจะบริโภคเบียร์ถึง 40.6 ลิตรต่อปี ซึ่งทำให้เวียดนามเป็นประเทศที่บริโภคเบียร์มากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นตลาดเบียร์ที่สำคัญที่สุดในภูมิภาค

ผู้บริโภคเบียร์ในภาคใต้เวียดนามนิยมดื่มเบียร์ขั้นต่ำ 5 ขวด ซึ่งนับว่าเป็นปริมาณที่เยอะมาก นางอภิรดี พนักงานบริษัทโฆษณาของประเทศไทยในนครโฮจิมินห์ อายุ 28 ปี ให้สัมภาษณ์ว่า ผู้บริโภคเบียร์ชาวเวียดนามในนครโฮจิมินห์ดื่มกันหนักมาก และเบียร์ที่ผลิตในเวียดนามมีราคาถูกเมื่อเทียบกับเบียร์ประเทศอื่นๆ นอกจากนั้น ร้านเหล้าเบียร์ในนครโฮจิมินห์มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ซึ่งต่างจากประเทศไทยที่มีข้อจำกัดทางกฎหมายมาก

นาย Yoshiki Otani นักธุรกิจชาวญี่ปุ่นวัย 50 ปี อาศัยอยู่ในนครโฮจิมินห์ กล่าวว่า กฎหมายของเวียดนามผ่อนปรนมากสำหรับผู้บริโภคเหล้าเบียร์ ซึ่งในญี่ปุ่น หากจะไปดื่มเคริ่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว ทุกคนจะต้องเตรียมหาวิธีเดินทางกลับที่พักให้เรียบร้อยเสียก่อน

ผู้ประกอบการร้าน Beer Club รายหนึ่งในนครโฮจิมินห์ ให้สัมภาษณ์ว่า ผลตอบแทนที่ได้รับจากการเปิดร้านเบียร์สูงมาก ร้อยละ 35 มาจากอาหาร และร้อยละ 50 มาจากเบียร์ ซึ่งนักลงทุนสามารถคืนทุนได้ภายในระยะเวลา 1 ปี โดยในอนาคตอันใกล้ คาดว่า แหล่งบันเทิงและผับบาร์ที่ลงทุนโดยนักลงทุนต่างชาติจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในเมืองใหญ่ๆ เช่น นครโฮจิมินห์ เป็นต้น

นาย Michel de Carvalho เจ้าของกิจการเบียร์ Heineken กล่าวว่า ในปัจจุบัน เวียดนามมีโรงงานผลิตเบียร์ 20 โรงงานที่ผลิตเบียร์ได้มากกว่า 20 ล้านลิตร ต่อปี โรงงานผลิตเบียร์ 15 โรงงานที่ผลิตเบียร์ได้มากกว่า 15 ล้านลิตรต่อปี และสถานที่ผลิตเบียร์กว่า 268 แห่งที่ผลิตเบียร์ต่ำกว่า 1 ล้านลิตรต่อปี อย่างไรก็ตามจำนวน โรงงานเหล่านั้นก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค นักลงทุนทุกรายต่างเร่งลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าว ไม่ว่าอุตสาหกรรมเบียร์ภายในประเทศ เช่น Dai Viet, SABECO และ HABECO และอุตสาหกรรมเบียร์ต่างประเทศ เช่น Heineken, Sapporo และ Tiger

บริษัท SABECO ผู้ผลิตเบียร์ Saigon เบียร์ชื่อดังของเวียดนามเป็นบริษัทที่มีทุนในการดำเนินการมากที่สุดลำดับที่ 5 ที่ได้ลงทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้น Ho Chi Minh Exchange Stock (HOSE) ตามหลังบริษัท Vinamilk, PV Gas, Vietcombank และ VinGroup ซึ่งบริษัทเบียร์ต่างประเทศหลายรายกำลังจับตามองการขายหุ้นของบริษัท SABECO อยู่ด้วย

ที่มา VnExpress วันที่ 29 กรกฏาคม 2560

URL: http://kinhdoanh.vnexpress.net/tin-tuc/doanh-nghiep/dan-nhau-viet-xay-lau-dai-cho-cac-hang-bia-3620208.html

 

3. โครงการ Long Son Petrochemical Complex จะเริ่มดำเนินกิจการในปี 2565

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาศ ผู้บริหารของกลุ่มบริษัท Siam Cement Group (SCG)  กล่าวว่า กลุ่มบริษัทฯ จะยังคงเพิ่มการลงทุนและขยายตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งโครงการ Long Son Petrochemical Complex เป็นโครงการที่บริษัทฯ ให้ความสนใจในการลงทุนมาเป็นระยะเวลาหลายปี โดยปัจจุบัน บริษัทฯ ได้ถือหุ้นกว่าร้อยละ 71 ในโครงการมูลค่า 5.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่ซื้อหุ้นกว่าร้อยละ 25 มูลค่า 36.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากบริษัท Qatar Petroleum ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 60 ขณะที่บริษัทหุ้นส่วนอย่าง Vietnam Oil and Gas (Petroleum Viet Nam; PVN) ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 29 ทั้งนี้ คาดว่าโครงการข้างต้นจะสามารถเริ่มดำเนินการผลิตได้ในปี 2565

จากการสำรวจ โครงการ Long Son Petrochemical Complex จะสามารถผลิต Olefin ได้กว่า 1.6 ล้านตันต่อปี โดยจะใช้พื้นที่กว่า 460 เฮกตาร์ ซึ่งในปี 2551 คาดว่าจะใช้เงินลงทุนในโครงการดังกล่าวกว่า 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเริ่มดำเนินการได้ในปี 2555 อย่างไรก็ตาม เกิดความล่าช้าเนื่องจากปัญหาการเวนคืนพื้นที่และการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น

ทั้งนี้ บริษัท S&P Global Platts หนึ่งในบริษัทผู้ให้บริการด้านพลังงานและสินทรัพย์ชั้นนำของโลก กล่าวว่า ถึงแม้ว่าการเวนคืนที่ดินจะดำเนินการแล้วเสร็จและสัญญาผู้รับเหมาโครงการแบบงานวิศวกรรม-จัดหา-ก่อสร้าง (Engineering-Procurement-Construction) ได้มีการลงนามแล้วก็ตามยังมีความท้าทายคือหุ้นส่วนชาวเวียดนามไม่สามารถหาเงินทุนมาสนับสนุนโครงการได้เพียงพอ

ที่มา หนังสือพิมพ์ The Saigon Times Daily วันที่ 31 กรกฏาคม 2560 หน้า 1

 

4. นักลงทุนในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ

บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงเป็นพื้นที่ปลูกข้าวที่สำคัญที่สุดของประเทศเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนักลงทุนในบริเวณดังกล่าวกำลังประสบปัญหาหลายประการทางด้านเศรษฐกิจ เช่น การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ การขาดเงินทุนสำหรับการลงทุน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาโครงสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน

นาย Vo Hung Dung ประธานสมาคมหอการค้าและอุตสาหกรรมในนครเกิ่นเทอกล่างว่า เศรษฐกิจของบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงระหว่างปี 2544-2548 ขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 10 ในขณะที่อัตราการเติบโตเฉลี่ยในช่วงปี 2554-2558 เติบโตเพียงร้อยละ 8 และในปี 2559 เติบโตเพียงร้อยละ 7 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคการเกษตรที่เป็นหัวใจหลักของบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ในช่วงก่อนปี 2557 ซึ่งเติบโตถึงร้อยละ 6 แต่ในปี 2559 กลับเติบโตเพียงร้อยละ 0.6

นาย Dung กล่าวว่า การขนส่งสินค้าจากจังหวัดในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงไปยังท่าเรือ Cat Lai ในนครโฮจิมินห์ หรือท่าเรือในจังหวัดบ่าเหรี่ยะ-หวุงเต่า เป็นเรื่องที่ยากลำบากและใช้ระยะเวลานาน ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาการเกษตร ยิ่งไปกว่านั้น ในปัจจุบัน สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงยังคงไม่มีศูนย์โลจิสติกส์ และยังขาดงบประมาณในการพัฒนาโครงการต่างๆ ที่สำคัญในจังหวัดต่างๆ

ทั้งนี้ นาย Dung ประธานสมาคมหอการค้าและอุตสาหกรรมในนครเกิ่นเทอ กล่าวว่า นักลงทุนที่ลงทุนในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงควรจะช่วยเหลือกันให้มากขึ้นและใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในกระบวนการผลิตและการดำเนินธุรกิจ เพื่อปรับตัวให้เข้ากับกระแสการพัฒนานโยบายอุตสาหกรรม 4.0 นอกจากนั้น ในปัจจุบัน ภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงยังประสบข้อท้าทายหลายประการ ได้แก่ การขาดสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ การขาดแคลนโลจิสติกส์ และนเทคโนโลยี ซึ่งหากบริษัทต่างๆ ร่วมกันดำเนินการตามนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 แล้ว จะช่วยให้บริษัทต่างๆ ลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงานลง เพิ่มผลผลิต และสร้างกำไรได้มากขึ้น

นาย Nguyen The Quang รองอธิบดีกรม E-Commerce และเทคโนโลนีสารสนเทศ สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เห็นพ้องกับแนวคิดของนาย Dung และได้หยิบยกแนวคิด “Sharing Economy” ซึ่งประสบความสำเร็จมาแล้วทั่วโลก โดยกล่าวว่า ธุรกิจประเภทเทคโนโลยีสารสนเทศ อาทิ Grab, Uber, Trip me และ Ahamove ได้ใช้แนวคิดดังกล่าวเพื่อแบ่งปันต้นทุนและเพิ่มผลกำไร ซึ่งหากผู้ประกอบการในภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงดำเนินการตามแนวคิดดังกล่าวจะช่วยให้การบูรณาการภายในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงมีความเข้มแข็งขึ้น

นาย Huyn The Du ผู้อำนวยการโครงการ Fulbright Economics Teaching Programme กล่าวว่า ในปี 2560 บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงมีบริษัทเกิดใหม่ 4,275 บริษัท เพิ่มขึ้นร้อยละ 110 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว มูลค่าการลงทุนกว่า 30.81 พันล้านด่ง เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 122.7 อย่างไรก็ตาม จำนวนบริษัทที่ล้มเลิกกิจการมีประมาณ 2,426 บริษัท เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 114 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วเช่นกัน นอกจากนั้น การจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลสำหรับการพัฒนาจังหวัดในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับ 5 ภูมิภาคอื่นๆ ในประเทศ

นาย Du กล่าวเสริมว่า ผู้ประกอบการท้องถิ่นส่วนใหญ่จะประกอบธุรกิจในด้านการเกษตรขนาดเล็ก-กลาง โดยไม่สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีเงินทุน เทคโนโลยี และบุคลากรที่ดีกว่าได้ ดังนั้น รัฐบาลควรจะมีนโยบายที่เหมาะสมมาสนับสนุนผู้ประกอบการท้องถิ่นให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต นอกจากนั้น นักธุรกิจทุกรายควรจะติดตามข่าวสารในเรื่องของกฏหมายและนโยบายทางด้านการเงินและการคลัง เพื่อที่จะเลี่ยงการกระทำผิดกฏหมายและพลาดโอกาสการเข้าถึงนโยบายสนับสนุนของภาครัฐ

ที่มา หนังสือพิมพ์ The Saigon Times Daily วันที่ 27 กรกฏาคม 2560 หน้า 1 และสำนักข่าว Vietnam Breaking News วันที่ 27 กรกฏาคม 2560

URL: https://m.vietnambreakingnews.com/2017/07/mekong-delta-firms-advised-to-foster-connectivity/

******************************************************************

ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในนครโฮจิมินห์