ถ่ายทอดมุมมองความคิดกับ “ธุรกิจ Trading” ในภาคใต้ของเวียดนาม

ถ่ายทอดมุมมองความคิดกับ “ธุรกิจ Trading” ในภาคใต้ของเวียดนาม

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ก.ย. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,775 view

ภาคใต้ของเวียดนามนับได้ว่าเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศเวียดนาม ที่ผู้ประกอบการและนักลงทุนไทยสนใจในการเข้ามาลงทุนมาโดยตลอด โดยธุรกิจที่สร้างรายได้และเป็นที่ใฝ่ฝันของพ่อค้ามือใหม่และเก่า     ทั้งหลาย ได้แก่ ธุรกิจการนำเข้า-ส่งออกและจัดจำหน่ายสินค้า (Trading company) ซึ่งมีนักธุรกิจไทยผู้มีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจประเภทดังกล่าวในภาคใต้ของเวียดนามหลายราย

ในวันนี้ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ได้มีโอกาสพูดคุยกับ  (1) คุณอดิศัย ประเสริฐศรี กรรมการผู้จัดการบริษัท Chance And Challenge  (2) คุณธงชัย พานทอง  เจ้าของร้านอาหารช้างทอง และ (3) คุณธีรพงษ์ ฤทธิ์มาก ผู้อำนวยการทั่วไป บริษัท Sitto เวียดนาม  เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์และแลกเปลี่ยนแง่มุมของการดำเนินธุรกิจ การเตรียมตัวก่อนดำเนินการ ขั้นตอนการนำเข้าและจัดจำหน่าย กลยุทธ์ในการดำเนินการ ปัญหาและอุปสรรคในการเริ่มต้นธุรกิจ ตลอดจนคำแนะนำสำหรับนักลงทุนหน้าใหม่ที่สนใจจะลงทุนในภาคใต้ของเวียดนาม

(คุณอดิศัย ประเสริฐศรี กรรมการผู้จัดการบริษัท Chance And Challenge)

          จากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการธุรกิจการนำเข้าและจัดจำหน่ายทั้ง 3 ท่าน พบว่า ล้วนแต่เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศเวียดนามมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ปี และมีประสบการณ์การดำเนินธุรกิจประเภทดังกล่าวในนคร      โฮจิมินห์มาแล้วไม่ต่ำกว่า 8 ปี ซึ่งทั้ง 3 ท่าน ดำเนินธุรกิจเฉพาะที่ประเทศเวียดนามเท่านั้น โดยมีฐานการกระจายสินค้าหลักๆ อยู่ในภาคใต้และภาคกลางของเวียดนาม ซึ่งการดำเนินธุรกิจการนำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าที่ของทั้ง 3 ท่านมีความแตกต่างกัน โดยคุณอดิศัย เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าประเภทอุปโภคบริโภค อาทิ ขนมขบเคี้ยว เยลลี่ และผลิตภัณฑ์ด้านความงาม มีเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจคือการนำเข้าสินค้าของไทยซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่น คุณธงชัย เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชาตรามือแต่เพียงผู้เดียวในประเทศเวียดนาม ตลอดจนเริ่มนำเข้าสินค้าผลไม้อบแห้งจากประเทศไทยภายใต้แบรนด์ Poltip และสาหร่ายอบกรอบซีลีโกะ ส่วนคุณธีรพงษ์ เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าประเภทเคมีเกษตร และอุปกรณ์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ที่มีเป้าหมายเพื่อให้ลูกค้าชาวเวียดนามได้เลือกซื้อสินค้าที่มีราคาถูกลง และ  เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาภาคการเกษตรของเวียดนามในภาคใต้

          แม้จะมีลักษณะของสินค้าที่นำเข้าแตกต่างกัน แต่ในด้านของการเตรียมความพร้อมและการเริ่มดำเนินกิจการนั้น ทั้ง 3 ท่าน ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การร่วมงานกับคนเวียดนามทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนนั้นไม่ใช่เรื่องยาก โดยผู้ประกอบการควรศึกษากฎหมายของเวียดนามที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาอย่างละเอียด ศึกษาตลาดอย่างรอบคอบ สำรวจความพร้อมและทำความเข้าใจในสินค้าของตัวเองอย่างถ่องแท้ก่อนตัดสินใจลงทุน ซึ่งผู้ลงทุนต่างชาติที่ต้องการทำธุรกิจนำเข้า-ส่งออกจะต้องจดทะเบียนกับหน่วยงานการวางแผนและการลงทุนประจำแต่ละจังหวัด (Department of Planning and Investment) และต้องได้รับใบรับรองการ    ลงทุน (Investment Certificate) อย่างถูกต้อง

          ด้านการคัดเลือกหุ้นส่วนทางธุรกิจ (Partner) คุณธงชัย มองว่า ทุกฝ่ายต้องมีความจริงใจต่อกัน ทำงานร่วมกันได้ มีความซื่อสัตย์โปร่งใส ส่วนคนเวียดนาม ต้องเป็นคนดี ทำงานเข้ากันได้ เปิดใจ และต้องอยู่ในระบบระเบียบของทางบริษัทได้ ส่วนผู้กระจายสินค้าชาวเวียดนาม ต้องเป็นคนใจสู้ ขยัน เก่ง และจริงใจ ในเรื่องการปรับตัว คุณธีรพงษ์ กล่าวว่า ต้องปรับตัวเข้าหากัน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ต้องพยายามทำความเข้าใจคนเวียดนาม ช่วงแรกการติดต่อสื่อสารอาจจะลำบากเล็กน้อย แต่เชื่อว่าทุกคนสามารถสอนและเรียนรู้ได้ ในส่วนของพฤติกรรมของผู้บริโภค  คุณอดิศัยเล่าว่า คนเวียดนามในแต่ละภาคมีพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่แตกต่างกันมากนักในส่วนของสินค้าอุปโภคบริโภค อาจจะมีบ้างเล็กน้อยที่เป็นสินค้าตามฤดูกาล แต่ก็เป็นปริมาณ  สัดส่วนที่ไม่มาก สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องตามกระแสของผู้บริโภคให้ทัน

 

(คุณธงชัย พานทอง เจ้าของร้านอาหารช้างทอง)

 

ในด้านการตลาด ทั้ง 3 ท่าน มีการดำเนินกลยุทธ์ที่คล้ายคลึงกัน คือ สินค้าที่นำเข้าต้องเป็นสินค้าที่มีความโดดเด่น มีคุณภาพ และมีความน่าเชื่อถือในตัวสินค้า ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งที่สำคัญอีกหนึ่งประการที่ทุกท่านกล่าว เป็นเสียงเดียวกันคือ การเข้าถึงลูกค้าและการใส่ใจในการบริการ อย่างไรก็ดี แน่นอนว่า ทุกการดำเนินธุรกิจย่อมมีปัญหา/ความท้าทาย โดยเจ้าของธุรกิจทั้ง 3 ท่านดำเนินการทุกอย่างตามขั้นตอนและถูกต้องตามกฎหมาย อย่างไรก็ดี ก็ยังมีความท้าทาย เช่น คุณอดิศัยเคยประสบปัญหาเล็กน้อยในด้านข้อกฎหมายเวียดนามที่ในทางตัวบทกับการปฏิบัติไม่  สอดคล้องกัน คุณธงชัยประสบปัญหาในเรื่องของสินค้าลอกเลียนแบบและสินค้าหนีภาษีที่ต้องเร่งแก้ไข คุณธีรพงษ์มีอุปสรรคในเรื่องขั้นตอนการนำเข้าสินค้าซึ่งมีความยุ่งยากเล็กน้อยในการขอใบอนุญาต การทดสอบสินค้า และการยื่นเอกสาร

ในปัจจุบัน ทั้ง 3 ท่านยอมรับว่า ธุรกิจ Trading ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นในหมู่ของนักลงทุน ส่งผลให้มีคู่แข่งจำนวนมากขึ้น แน่นอนว่าเมื่อคู่แข่งมีจำนวนมากขึ้น นอกจากจะต้องนำเข้าสินค้าที่มีความโดดเด่น  มีคุณภาพ ปลอดภัย และน่าเชื่อถือแล้ว การปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจย่อมเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ซึ่งผู้ประกอบการทั้ง 3 ท่านต่างเห็นพ้องกันว่า การเปลี่ยนแปลงหรือสรรหาวิธีการนำเสนอขายใหม่ๆ ตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไปเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากในการดำเนินธุรกิจ   มากขึ้น ทำให้สภาพของตลาดและกลยุทธ์ในการนำเสนอและการซื้อขายสินค้าเปลี่ยนไป ทั้ง 3 ท่าน ได้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาช่วยส่งเสริมในการดำเนินธุรกิจโดยการสร้าง Fan page บน Facebook เพื่อโปรโมทและจัดจำหน่ายสินค้ามากกว่าการลงหนังสือพิมพ์หรือการเผยแพร่ทางโทรทัศน์ดังเช่นในอดีต นอกจากนั้น     การใช้แอพลิเคชั่นบนคอมพิวเตอร์และมือถือยังเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ทั้ง 3 ท่านต่างเห็นพ้องว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำเนินธุรกิจ

 

(คุณธีรพงษ์ ฤทธิ์มาก ผู้อำนวยการทั่วไป บริษัท Sitto เวียดนาม)

 

ท้ายที่สุด แม้ทั้ง 3 ท่านจะลงทุนในสินค้าที่แตกต่างกัน แต่ได้ให้ข้อคิดสอดคล้องกัน โดยคุณอดิศัยแนะนำว่า ในอนาคตสินค้าที่เกี่ยวกับเด็ก และการศึกษาจะเติบโต ควรสำรวจคู่แข่งในตลาด ดูพฤติกรรมผู้บริโภคโดยไม่ควรคิดไปเองว่าคนเวียดนามจะชอบแบบคนไทย ควรมีบุคลากรทั้งคนไทยและเวียดนามที่ใช้งานได้ และต้องหาสินค้าที่เหมาะสมกับตลาดในราคาที่เหมาะสม และเน้นย้ำว่าการจะทำธุรกิจในเวียดนามที่เกี่ยวกับการซื้อขายต้องมีสัญญาซื้อขายที่รัดกุมทุกกรณี ส่วนคุณธงชัยเห็นว่า ในอนาคตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและความสวยความงามจะเติบโตมากขึ้น แต่ยังไม่ง่ายในการขอ อย. จากทางการเวียดนาม หากนักลงทุนหน้าใหม่สนใจจะนำเข้าสินค้ามาเวียดนามต้องเข้าใจสินค้าตัวเองและตลาดอย่าถ่องแท้ จากนั้นจึงหาผู้จัดจำหน่าย ส่วนคุณธีรพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันคนเวียดนามเชื่อมั่นในสินค้าไทย ทำให้นักลงทุนไทยยังมีโอกาสอีกมากในการมาลงทุนที่เวียดนาม      ต้องเข้าใจถึงวัฒนธรรม วิธีคิด ศักยภาพของคนเวียดนาม และหากสื่อสารภาษาเวียดนามได้ก็จะได้เปรียบ และหากจะจ้างพนักงานที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ก็จะต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 – 30 อีกทั้งการเข้าใจภาษาเวียดนามจะทำให้สามารถปรับตัวได้เร็วขึ้นอีกด้วย

กล่าวโดยสรุปคือ สิ่งที่ทั้ง 3 ท่านเน้นย้ำ คือ การนำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าในประเทศเวียดนามนั้น ต้องศึกษารายละเอียดรวมทั้งกฎระเบียบอย่างรอบคอบ และมีการทำสัญญาซื้อ-ขาย หรืออื่นๆ ก่อนการลงทุน สำรวจและทำความเข้าใจในสินค้าของตัวเอง ศึกษาคู่แข่งในตลาด และที่สำคัญที่สุดคือ ต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมายของเวียดนามและเคารพธรรมเนียมปฎิบัติ ตลอดจนวัฒนธรรมของคนเวียดนาม

 

สถานกงสุลใหญ่ฯ ขอขอบคุณ คุณอดิศัย ประเสริฐศรี คุณธงชัย พานทอง และ คุณธีรพงษ์ ฤทธิ์มาก เป็นอย่างสูงที่ให้ข้อมูลและประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ ตลอดจนคำแนะนำที่ดี ในการลงทุนธุรกิจ Trading ในภาคใต้ของเวียดนาม

 

 

 7 วิธีการนำเข้าสินค้าเบื้องต้น

  1. ตรวจสอบค่าธรรมเนียมและสิทธิภาษีอากร

 สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรสำหรับ SMEs

- SMEs (บริษัทที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 1 หมื่นล้านด่ง หรือจำนวนแรงงานน้อยกว่า 300 คน) ได้รับยกเว้นภาษี 30% ของภาษีเงินได้นิติบุคคลที่บริษัทจะต้องเสียตามปกติ

- ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และ ภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับธุรกิจจัดเลี้ยง (Food Catering) ธุรกิจให้เช่าบ้านแก่ผู้ใช้ แรงงานและนักเรียนนักศึกษา และธุรกิจรับเลี้ยงเด็กภายในบ้าน

- ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับ SMEs ลงเหลือร้อยละ 20 ในปี 2557

สามารถติดต่อสอบถามจากพิกัดสินค้า ได้ที่ กรมศุลกากร สายด่วน บริการ 1164

  1. หาตัวแทนจำหน่ายสินค้า

เพื่อเป็นคนกลางมาทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการส่งออกสินค้าแทนตนเอง วิธีนี้จะเหมาะสำหรับกิจการขนาดเล็กหรือ SME ที่เพิ่งจะเริ่มทำการส่งออกเป็นครั้งแรก ข้อดีคือ ตัวแทนส่งออกสินค้า อาจหมายรวมถึงตัวแทนนำเข้าส่งออก (ออกของ หรือ Shipping) ซึ่งมักจะมีความรู้และประสบการณ์ในการค้าขายกับต่างประเทศที่ดี มีแม้กระทั่งกระบวนการทางศุลกากรระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสังคม วัฒนธรรม กฎหมาย ฯลฯ และยังสามารถให้คำปรึกษาไม่ว่าจะเป็นวิธีการเตรียมตัวก่อนติดต่อกับลูกค้า การโฆษณา การส่งเสริมการขาย แม้กระทั่งกลยุทธ์ส่งเสริมและรักษายอดขายที่ลดลงตัวลงมา แต่ถ้าได้ตัวแทนที่ไม่ดี จะกลายเป็นข้อเสีย จนสูญเสียลูกค้าไปได้ ทั้งนี้ SMEs ดังนั้น ควรศึกษาหาข้อมูลของตัวแทนจำหน่ายก่อน

  1. ตรวจสอบกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าของเวียดนาม

สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมศุลกากรเวียดนาม https://www.customs.gov.vn/home.aspx?language=en-US

  1. ขอใบอนุญาตรับรองสินค้าตามแต่ละชนิด เช่น  สินค้าเคมีภัณฑ์ สินค้าเครื่องสำอาง สินค้าเกษตร ที่สำนักงานเกษตรและการพัฒนาชนบท หรือสำนักงานสุขภาพประจำแต่ละจังหวัด
  2. ขอใบรับรองคุณภาพสินค้า (กรณีสินค้าเฉพาะทาง) เช่น สินค้าเคมีภัณฑ์ สินค้าที่จำกัดการนำเข้า

ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

https://www.most.gov.vn/en/pages/home.aspx

  1. จดทะเบียนกับกรมศุลกากรของเวียดนาม

https://www.customs.gov.vn/home.aspx?language=en-US

  1. สามารถจำหน่ายสินค้าได้อย่างถูกกฏหมาย

 

[1] บริษัทต่างชาติจะสามารถนำเข้าสินค้าได้อย่างเสรี แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับการนำเข้าสินค้าบางอย่าง ได้แก่ 1. สินค้าห้ามนำเข้า เช่น อาวุธ พลุ ของใช้มือสองบางประเภท รถยนต์พวงมาลัยขวา ตู้เย็นที่มีสาร CECs สารเคมีที่อยู่ในภาคผนวก 3 ของ The Rotterdam Convention สารเคมีสำหรับพืชบางชนิดสารเคมีบางชนิด สินค้าที่มีผลกระทบทางวัฒนธรรม ใบยาสูบและบุหรี่ ปิโตรเลียม หนังสือพิมพ์ วารสาร เครื่องบิน เป็นต้น 2. สินค้าที่ควบคุม คือสินค้าที่ต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (Ministry of Industry and Trade : MOIT)    3. สินค้าอาหาร และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจะต้องผ่านหลักเกณฑ์ด้านสุขภาพ และความปลอดภัย


[1] ศูนย์พัฒนาการค้าและธุรกิจไทยในอาเซียน กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

***********************************************

ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในนครโฮจิมินห์