วันที่นำเข้าข้อมูล 5 ต.ค. 2560
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 พ.ย. 2565
รายงานความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ
ระหว่างวันที่ 1 – 4 ตุลาคม 2560
1. นายกรัฐมนตรีเวียดนามเรียกร้องให้บริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงดำเนินการด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2560 นาย Nguyen Xuan Phuc นายกรัฐมนตรีเวียดนาม กล่าวในที่ประชุมเกี่ยวกับการพัฒนาและการสร้างภูมิคุ้มกันสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืนบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ณ นครเกิ่นเทอ เน้นความสำคัญของแผนการพัฒนาพื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง โดยเฉพาะการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมการพัฒนาด้านการเกษตร และการลงทุนด้านอุตสาหกรรมการเกษตรและการแปรรูปการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง นอกจากนี้ ควรพัฒนาเศรษฐกิจที่สมดุลกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือกับนครโฮจิมินห์และจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้
นาย Phuc เห็นว่า พื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงเป็นพื้นที่เพาะปลูกที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม และมีความสำคัญในการพัฒนาประเทศ ดังนั้น การพัฒนาการเกษตรควรมีความหลากหลาย เพิ่มการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีและการผลิตที่มีมูลค่าสูง โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา
ปัจจุบัน มีการผลิตข้าวบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงลดลง โดยเกษตรกรหันไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน ส่งผลให้มีกำไรมากขึ้นและลดการใช้น้ำลง โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงการวางแผนและการลงทุนดำเนินการเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนบริเวณพื้นที่ดังกล่าว
นาย Nguyen Chi Dung รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการวางแผนและการลงทุน กล่าวในการประชุมดังกล่าวว่า พื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงมีความเกี่ยวข้องอยู่ในแผนแม่บทที่ครอบคลุมการดำเนินการต่างๆ โดยมุ่งเน้นจัดทำแผนแม่บทระดับภูมิภาคที่ดำเนินการอย่างครอบคลุมเพื่อส่งเสริมการลงทุนและช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ดังกล่าว
นาย Tran Hong Ha รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในที่ประชุมถึงปัญหาที่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงกำลังเผชิญทั้งในด้านดิน น้ำ และทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งมีผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ โดยปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขงได้ลดลง 1.8 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ดังนั้น หลายพื้นที่จึงขาดแคลน และส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว
ที่มา หนังสือพิมพ์ The Saigon Times Daily วันที่ 28 กันยายน 2560 หน้า 1
2. บริษัท Saigontourist สร้างท่าเทียบเรือเพิ่มเติม เพื่อรองรับการท่องเที่ยวทางน้ำ
วันที่ 28 กันยายน 2560 บริษัท Saigontourist ผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวชั้นนำของเวียดนามได้นำเสนอเส้นทางใหม่ 7 เส้นทาง ได้แก่ จากเขต Tan Cang ไปยังเขต Binh Duong – Ben Dinh , Binh Duong – ฟาร์ม Hai Thanh Koi และ Can Thanh ป่าชายเลนในเขต Can Gio , เกาะ Thanh Da , เกาะ Long Phuoc , หมู่บ้าน Ben Dinh ในเขต 9 และ Vam Sat และมีเรือยนต์อีกจำนวน 5 ลำ ที่จะพานักท่องเที่ยวไปยังนครโฮจิมินห์และพื้นที่ใกล้เคียง โดยประกาศจะสร้างท่าเทียบเรือเพิ่มเติม เพื่อเป็นการพัฒนาการท่องเที่ยวทางน้ำด้วย
นาย Tran Hung Viet ผู้อำนวยการบริษัท Saigontourist กล่าวว่า บริษัท Binh Quoi Tourist Village บริษัท Saigontourist Travel Service และบริษัท Vam Sat Tourist Site ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Saigontourist ได้เปิดให้บริการในเส้นทางดังกล่าวแล้ว ซึ่งนอกจากเรือและสถานที่ท่องเที่ยว บริษัทฯ มีการลงทุนท่าเทียบเรือที่ Tan Cang และ Binh Quoi และจะพัฒนาท่าเทียบเรือบริเวณ Saigon South ในเขต 7 นอกจากนั้น บริษัทฯ ได้เพิ่มสถานที่ท่องเที่ยวและบริการต่างๆ ในโปรแกรมการท่องเที่ยว เพื่อทำให้การท่องเที่ยวมีความน่าสนใจยิ่งขึ้น เพื่อดึงดูดลูกค้าทั้งจากในและนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คนในเขตเมือง นักเรียนและนักศึกษา
บริษัท Saigontourist เสนอขายโปรแกรมการท่องเที่ยวทางน้ำผ่านตัวแทน โรงแรมและร้านอาหารต่างๆ อีกทั้ง ได้ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ และจัดออกแสดงการท่องเที่ยวในงานแสดงสินค้า/นิทรรศการในต่างประเทศ เช่น นิทรรศการ Top Resa ในประเทศฝรั่งเศสเมื่อเดือนกันยายน 2560 งานแสดงสินค้าด้านการท่องเที่ยว ITB (ITB travel trade show) ที่สิงคโปร์ และงาน WTM (World Travel Market ; WTM) ที่สหราชอาณาจักรในปลายปี 2560
ทั้งนี้ เมื่อเดือนมิถุนายน 2560 รัฐบาลนครโฮจิมินห์ได้อนุมัติแผนพัฒนาการท่องเที่ยวปี 2560 – 2563 ซึ่งเน้นการท่องเที่ยวทางน้ำเป็นหลัก และคาดว่าจะมีการพัฒนาเส้นทางคมนาคมทางน้ำอีกอย่างน้อย 7 แห่ง ในนครโฮจิมินห์ จังหวัดด่งนาย เขต Nha Be , Soai Rap และแม่น้ำ Long Tau ในปี 2563 และในปี 2561 โดยมีเป้าหมายดึงดูดนักท่องเที่ยวจากการท่องเที่ยวทางน้ำ จำนวน 450,000 คน โดยเพิ่มร้อยละ 15 ในทุกปี
ที่มา หนังสือพิมพ์ The Saigon Times Daily วันที่ 29 กันยายน 2560
3. การก่อสร้างสนามบิน Long Thanh ต้องการงบประมาณเพิ่มเติมอีก 6 ล้านล้านด่งสำหรับค่าชดเชยและการเวนคืนที่ดิน
เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2560 นาย Nguyen Chi Dung รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการวางแผนและการลงทุน กล่าวในที่ประชุมว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้งบประมาณเพิ่มอีก 6 ล้านล้านด่ง (ประมาณ 263.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับค่าชดเชย/เวนคืนที่ดิน ช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงปี 2563 ของโครงการก่อสร้างสนามบินนานาชาติ Long Thanh ที่จังหวัดด่งนาย
ตามรายงานของจังหวัดด่งนาย ระบุว่า ค่าใช้จ่ายสำหรับการเวนคืนที่ดินของโครงการดังกล่าวมีมูลค่ามากกว่า 23 ล้านล้านด่ง ซึ่งสภาแห่งชาติเวียดนามอนุมัติวงเงินเพียง 5 ล้านล้านด่ง จากการขายพันธบัตรรัฐบาลในช่วงปี 2560 – 2563 ให้นักลงทุน
ทั้งนี้ นาย Dung เผยว่า ตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงแค่การคาดการณ์เบื้องต้นเท่านั้น โดยในแผนการพัฒนาโครงการล่าสุด ระบุว่า โครงการฯ จำเป็นต้องมีงบประมาณจำนวน 11 ล้านล้านด่ง สำหรับค่าชดเชย/ การเวนคืนที่ดินตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงปี 2563 โดยหากแผนดังกล่าวได้รับการอนุมัติ เวียดนามจะขาดงบประมาณอีก 6 ล้านล้านด่ง ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวไม่ได้รวมอยู่ในแผนการลงทุนระยะกลางปี 2559 – 2563 แต่จะต้องนำมาจากงบประมาณของโครงการอื่นๆ ของรัฐที่ถูกยกเลิกไป ทั้งนี้ เห็นว่า อัตราการเบิกจ่ายในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 คิดเป็นเพียงร้อยละ 51 ของการลงทุนของภาครัฐ และมักจะเร่งรัดการเบิกจ่ายในช่วงเดือนสุดท้ายของปี
สนามบินนานาชาติ Long Thanh เป็นโครงการที่มีความสำคัญ โดยจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 100 ล้านคน และขนส่งสินค้าได้ถึง 5 ล้านตันต่อปี ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับการอนุมัติโดยสภาแห่งชาติเวียดนามในเดือนมิถุนายน 2558 มูลค่าการก่อสร้างทั้งสิ้นประมาณ 336.6 ล้านล้านด่ง (1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยในระยะแรกต้องใช้เงินลงทุนมูลค่า 114.45 ล้านล้านด่ง
ที่มา หนังสือพิมพ์ The Saigon Times Daily วันที่ 3 ตุลาคม 2560 หน้า 1
4. ปลาสวายในพื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงมีราคาเพิ่มสูงขึ้น
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ Vietnamplus ระบุว่า ราคาเฉลี่ยของปลาสวายในพื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในเดือนกันยายน 2560 เพิ่มขึ้นเป็น 25,000 – 27,000 ด่ง (1.1 – 1.2 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อกิโลกรัมตามคุณภาพ โดยปลาสวายขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักมากกว่า 1 กิโลกรัม มีราคา 24,500 – 25,000 ด่ง เพิ่มขึ้น 2,000 – 2,500 ด่งต่อกิโลกรัม เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม 2560 ขณะที่ราคามาตรฐานของปลาสวายอยู่ที่ 24,000 – 26,500 ด่งต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 – 23 ในแต่ละปี อีกทั้ง ราคาของปลาขนาดเล็กในพื้นที่ดังกล่าวมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน เนื่องจากเป็นที่ต้องการของประชาชน
ตามรายงานของกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท ระบุว่า ราคาที่เพิ่มสูงขึ้นเกิดจากความต้องการขายและความต้องการในการส่งออกมีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสามเดือนสุดท้ายของปี เนื่องจากมีวันหยุดหลายวัน เช่น วันคริสต์มาส และวันขึ้นปีใหม่
ปัจจุบัน พื้นที่เพาะเลี้ยงปลาสวายบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงมีจำนวน 5,140 เฮกตาร์ ลดลงจากปี 2559 ร้อยละ 1.3 แต่พื้นที่ดังกล่าวมีผลผลิตปลาสวายในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 อยู่ที่ 998,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปี 2559 โดยจังหวัดที่มีการทำฟาร์มปลาขนาดใหญ่ ได้แก่ นครเกิ่นเทอ และจังหวัดด่งทับ โดยนครเกิ่นเทอมียอดการผลิต 134,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5 จากช่วงเดียวกันของปี 2559 และจังหวัดด่งทับมียอดการผลิตทั้งหมด 390,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.7 จากช่วงเดียวกันของปี 2559
ที่มา หนังสือพิมพ์ The Saigon Times Daily วันที่ 3 ตุลาคม 2560 หน้า 3
อีเมลสถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์
ติดต่อทั่วไป
แผนกเศรษฐกิจ
แผนกกงสุล (หนังสือเดินทาง, นิติกรณ์และทะเบียนราษฎร์, บัตรประชาชน, การตรวจลงตราและรับรองเอกสาร)