ข่าวเด่นวันที่ 9 - 10 มกราคม 2561

ข่าวเด่นวันที่ 9 - 10 มกราคม 2561

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 ม.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,367 view

ข่าวเด่นวันที่ 9 - 10 มกราคม 2560

  1. มะขามไทยกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในภาคใต้ของเวียดนาม

ในปัจจุบัน กระแสการบริโภคมะขามนำเข้าจากประเทศไทยและกัมพูชากำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงจากผู้บริโภคในภาคใต้ของเวียดนาม ซึ่งสามารถเห็นได้จากร้านค้าต่างๆ ในนครโฮจิมินห์นิยมนำเข้ามาขายเป็นจำนวนมากและมีราคาแพงกว่ามะขามที่ปลูกในประเทศกว่าเท่าตัว โดยมีราคาขายที่อยู่ที่ประมาณ 130,000 – 240,000 ด่ง/กิโลกรัม (ประมาณ 200 - 360 บาท) ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่นำเข้า / ฤดูการออกผล

จากการสัมภาษณ์ผู้นำเข้ามะขามไทยในนครโฮจิมินห์ ชี้ให้เห็นว่า ผู้บริโภคชาวเวียดนามนิยมรับประทานมะขามไทยเนื่องจากมีรสชาติที่หวานและไม่เปรี้ยวมากเกินไปเหมือนกับมะขามที่ปลูกภายในประเทศเวียดนาม ตลอดจนมีคุณภาพที่ดีกว่า และมีขนาดที่ใหญ่กว่า โดยสามารถขายได้ถึง 10 – 15 กิโลกรัม/ วัน ทั้งนี้ นอกจากมะขามแล้ว หลายๆ ร้านขายผลไม้ในนครโฮจิมินห์ยังนิยมนำเข้าผลไม้ชนิดต่างๆ จากประเทศไทย อาทิ ทุเรียน และมะม่วง เนื่องจากได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคมาเป็นระยะเวลานาน

นอกจากการขายมะขามด้วยการตั้งร้านขายสินค้าแล้ว ยังมีผู้ค้าอีกจำนวนหนึ่งที่ขายมะขามผ่านช่องทางออนไลน์ด้วย ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้บริโภคไม่แพ้กัน นอกจากนั้น ไม่นานมานี้ มะขามนำเข้าจากประเทศกัมพูชาก็เริ่มเข้ามาบุกตลาดผู้บริโภคในภาคใต้ของเวียดนามเช่นกัน แต่ยังมีสัดส่วนการตลาดไม่มากนัก

ที่มา สำนักข่าว VnExpress วันที่ 3 มกราคม 2561

https://kinhdoanh.vnexpress.net/hang-hoa/me-campuchia-gan-mac-thai-ban-gia-cao-3693000.html

 

  1. นครโฮจิมินห์เตรียมของบประมาณจำนวนมากสำหรับการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเตรียมพร้อมการแข่งขันกีฬา SEA Games ครั้งที่ 31

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการประชาชนนครโฮจิมินห์ได้ยื่นร่างหนังสือขอจัดการแข่งขันกีฬา SEA Games ครั้งที่ 31 และงบประมาณสนับสนุนสำหรับพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานจำนวนกว่า 15 ล้านล้านด่ง (660 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับการสร้างสนามกีฬา Rach Chiech Sports Complex และสนามกีฬา Phan Dinh Phung sports Center และงบประมาณเพิ่มเติมกว่า 200 พันล้านด่ง (8.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับการยกระดับสนามแข่งขันกีฬา 22 แห่ง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเป็นเจ้าภาพกีฬา SEA Games ครั้งที่ 31 ในปี 2564 อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน รัฐบาลยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะจัดการแข่งขันขึ้นที่นครโฮจิมินห์หรือกรุงฮานอย

จากหนังสือที่สำนักงานคณะกรรมการประชาชนนครโฮจิมินห์ส่งถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ลงวันที่ 8 มกราคม 2561 ระบุว่า งบประมาณข้างต้นจะใช้สำหรับค่าเวนคืนที่ดิน ค่าพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้จัดการแข่งขัน อาทิ สนามกีฬา Thong Nhat สนามกีฬา Phu Tho Sport Training Center สนามกีฬา Phu Tho และสนามกีฬาTan Binh indoor Stadium และค่าจัดพิธีเปิดการแข่งขัน ซึ่งกีฬา SEA Games ครั้งที่ 31 จะเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของนครโฮจิมินห์ ที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศเวียดนาม โดยจะมีการแข่งขันกีฬากว่า 36 ชนิด มีนักกีฬากว่า 10,000 คนเข้าร่วมการแข่งขัน

นครโฮจิมินห์จำเป็นต้องใช้งบประมาณกว่า 2 ล้านล้านด่งในการสร้างสนามกีฬา Rach Chiech Sports Complex  ซึ่งจะใช้เป็นศูนย์รวมการถ่ายทอดสดสำหรับการแข่งขันประเภทต่างๆ และจะใช้เป็นที่แข่งขันกีฬายิมนาสติกและบิลเลียด ตลอดจนจะใช้สำหรับพิธีปิดการแข่งขันกีฬา SEA Games ครั้งที่ 31 โดยจะเริ่มก่อสร้างในต้นปี 2561 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563 และเป็นการลงทุนในลักษณะความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ส่วนสนามกีฬา Phan Dinh Phung sports Center จะก่อสร้างในเขต 2 และจะต้องใช้งบประมาณกว่า 8 ล้านล้านด่ง (360 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยจะร่วมมือกับภาคเอกชนเช่นกัน และจะแบ่งโครงการลงทุนออกเป็นหลายส่วนย่อย เพื่อให้นักลงทุนแต่ละรายสามารถใช้งบประมาณตามแต่ละส่วนได้เหมาะสม โดยจะมีความจุของสนาม 50,000 ที่นั่ง และคาดว่าจะแล้วเสร็จในต้นปี 2564

ที่มา หนังสือพิมพ์ The Saigon Times Daily วันที่ 9 มกราคม 2561 หน้า 2

 

  1. โครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนกำลังประสบปัญหา

ในปัจจุบัน โครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในเวียดนามกำลังประสบปัญหาเนื่องจากมีนักลงทุนจำนวนไม่น้อยต้องการถอนการลงทุนในโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเนื่องจากไม่แน่ใจในนโยบายการส่งเสริมการลงทุนในโครงการดังกล่าวและไม่แน่ใจว่าจะสามารถทำกำไรในระยะยาวได้

ประกาศนายกรัฐมนตรีหมายเลข 11/2017/QD-TTg ลงวันที่ 11 เมษายน 2560 เรื่องการขึ้นค่ารับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัท Electricity Viet Nam (EVN) เป็นการปรับขึ้นการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ โดยพลังงานลมที่ผลิตบนบกจะรับซื้อในราคา 8.77 เซ็นต์/kWh พลังงานลมที่ผลิตบริเวณริมทะเลจะรับซื้อในราคา 9.97 เซ็นต์/kWh และพลังงานแสงอาทิตย์จะรับซื้อในราคา 9.35 เซ็นต์/kWh มีผลบังคับใช้ 20 ปีเช่นกัน นอกจากนั้น ประกาศดังกล่าวยังมอบสิทธิประโยชน์ให้กับนักลงทุนจำนวนมาก อาทิ สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี และสิทธิประโยชน์ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

อย่างไรก็ดี นาง Sonia Lioret หัวหน้าโครงการพลังงานทดแทนขององค์กร Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit (GIZ) ประจำประเทศเวียดนาม ชี้ว่า นับถึงปลายเดือนสิงหาคม 2560 โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุกโครงการในประเทศเวียดนามที่เปิดดำเนินกิจการแล้วและยังอยู่ในระหว่างการอนุมัติมีความสามารถในการผลิตไฟฟ้ารวมกันถึง 19,000 MW และมีนักลงทุนที่สนใจลงทุนพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศเวียดนามอีกกว่า 100 ราย โดยส่วนใหญ่มีแผนลงทุนที่จังหวัดดั๊กลั๊ก จังหวัดบิ่งห์ถ่วน จังหวัดเตยนิง จังหวัดนิ่งห์ถ่วน จังหวัดคั้นหว่า และจังหวัดบากเลียว แต่ในความเป็นจริงแล้ว นักลงทุนยังไม่มีความมั่นใจในการลงทุน เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนในข้อกฎหมาย และมีอีกหลายโครงการไม่ได้รับการอนุมัติให้ลงทุนเนื่องจากมีหลายโครงการที่คล้ายคลึงกันในจังหวัดเดียวกัน ซึ่งภาครัฐไม่สามารถอนุญาตการลงทุนทั้งหมดได้เนื่องจากความซ้ำซ้อนกันของลักษณะโครงการลงทุน กอปรกับการยื่นลงทุนในพื้นที่โครงการลงทุนเดียวกัน นอกจากนั้น ประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้กับโครงการที่บรรลุข้อตกลงร่วมกันกับบริษัท EVN สำหรับดือนสิงหาคม 2560 – วันที่ 30 มิถุนายน 2562 เท่านั้น และยังไม่ชัดเจนว่าโครงการที่สร้างในภายหลังจะสามารถขายได้ในราคาดังกล่าวหรือไม่

จากข้อมูลของนาย Phuong Hoang Kim อธิบดีกรมพลังงานไฟฟ้าและพลังงานทดแทน กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เปิดเผยว่า นับถึงเดือนสิงหาคม 2560 มีโครงการพลังงานลม 50 โครงการที่ได้รับการอนุมัติให้ลงทุนได้และมีกำลังในการผลิตกว่า 3,000 MW แต่อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน มีเพียง 5 โครงการเท่านั้นที่เริ่มดำเนินโครงการแล้ว โดยมีกำลังในการผลิตรวมกันเพียง 190 MW

จากแผนการพัฒนาพลังงานแห่งชาติ รัฐบาลตั้งเป้าให้ทั้งประเทศมีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีความสามารถในการผลิตไฟฟ้าได้ 850 MW และ 12,000 MW ภายในปี 2563 และปี 2573 ตามลำดับ และรัฐบาลตั้งเป้าให้มีโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่มีความสามารถในการผลิตไฟฟ้าได้ 800 MW 2,000 MW และ 6,000 MW ภายในปี 2563 ปี 2568 และปี 2573 ตามลำดับ

* 1 kW = 100,000 MW

ที่มา หนังสือพิมพ์ Tuoi Tre วันที่ 8 มกราคม 2561

URL: https://tuoitre.vn/gia-ban-khong-hap-dan-nang-luong-sach-dang-i-ach-20180108084704762.htm

 

  1. นครเกิ่นเทอกำลังจะมีศูนย์วิจัยนวัตกรรม ICT Innovation Center

บริษัท Brainwork Corporation สัญชาติญี่ปุ่นแสดงความประสงค์ที่จะพัฒนาศูนย์วิจัยนวัตกรรม ICT Innovation Center ณ นครเกิ่นเทอ ในเดือนเมษายน 2561 ซึ่งบริษัทฯ ชี้ว่าจะสามารถดึงดูดโครงการลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะญี่ปุ่นเข้ามาในนครเกิ่นเทอและภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง โดยศูนย์วิจัยนวัตกรรมฯ จะประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจำนวน 5 คนที่จะอำนวยความสะดวกในด้านการวิจัยและพัฒนาซอฟท์แวร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และการตลาด โดยศูนย์วิจัยนวัตกรรมฯ จะร่วมมือกับบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น 50 บริษัทที่ลงทุนในภูมิภาคฯ จัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญและตัวแทนของบริษัทต่างๆ ในการให้คำปรึกษาและให้การช่วยเหลือนักลงทุนที่สนใจลงทุนในโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศด้านการเกษตรและโครงการอื่นๆ ในภูมิภาคฯ

นาย Nguyen Khanh Tung ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าและการลงทุน และการจัดนิทรรศการ นครเกิ่นเทอ กล่าวในที่ประชุมกับคณะผู้บริหารบริษัทฯ ว่า นครเกิ่นเทอมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่บริษัทเลือกที่จะดำเนินโครงการดังกล่าวในนคร เนื่องจากโครงการดังกล่าวจะสามารถดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติที่สนใจในการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคโนโลยีด้านการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการลงทุนจากนักลงทุนชาวญี่ปุ่น

นาย Truong Quang Hoai Nam รองประธานคณะกรรมการประชาชนนครเกิ่นเทอ กล่าวว่า นอกจากโครงการพัฒนาศูนย์วิจัยนวัตกรรมฯ แล้ว ยังมีอีกสองโครงการลงทุนที่สำคัญของนักลงทุนญี่ปุ่นในนครได้แก่ โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเวียดนาม – ญี่ปุ่น และโครงการพัฒนาฟาร์มการเกษตร ซึ่งทั้งสองโครงการจะเริ่มก่อสร้างในเดือนเมษายน 2561 เช่นกัน โดยนักลงทุนชาวญี่ปุ่นที่สนใจลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศจะได้รับสิทธิประโยชน์ในการลงทุนเพิ่มเติม อาทิ การยกเว้นภาษีที่ดิน และการสนับสนุนด้านเทคโนโลยี

ที่มา หนังสือพิมพ์ The Saigon Times Daily วันที่ 10 มกราคม 2561