วันที่นำเข้าข้อมูล 3 เม.ย. 2561
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
ข่าวเด่นวันที่ 2 - 3 เมษายน 2561
1. เที่ยวบินเช่าเหมาลำจากนครเกิ่นเทอมีจำนวนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเที่ยวบินที่ไปกรุงเทพมหานคร
นาย Vu Duc Bien ผู้อำนวยการและประธานบริษัท WorldTrans บริษัทที่ให้บริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำจากนครเกิ่นเทอไปยังต่างประเทศ อาทิ ไทย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน กล่าวว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับบริษัท Vietravel ให้บริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำกว่า 40 เที่ยว โดยในจำนวนนั้น เป็นการให้บริการนักท่องเที่ยวไปยังกรุงเทพมหานครกว่า 1,600 คน มีอัตราการสำรองที่นั่งร้อยละ 100 และมีแนวโน้มว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นาย Dao Anh Dung รองประธานคณะกรรมการประชาชนนครเกิ่นเทอ กล่าวว่า ภาครัฐนครเกิ่นเทอเห็นด้วยกับโครงการเที่ยวบินเช่าเหมาลำ และต้องการให้มีเที่ยวบินลักษณะดังกล่าวเพิ่มขึ้นในอนาคต เพื่อที่จะให้ประชาชนที่อยู่ในบริเวณภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงโดยเฉพาะประชาชนชาวนครเกิ่นเทอได้มีโอกาสเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทาง 6 ชั่วโมงไปยังนครโฮจิมินห์ โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการท่าอากาศยานนานาชาติเกิ่นเทอมีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 25/ปี
เที่ยวบินเช่าเหมาลำนครเกิ่นเทอ – กรุงเทพ – นครเกิ่นเทอ จะให้บริการ 8 ครั้งในปีนี้ ในวันที่ 6, 10, 14, 18, 22, 26, 30 มิถุนายน และวันที่ 4 กรกฏาคม โดยเครื่องบิน Airbus 320 ของสายการบิน ThaiVietjet ซึ่งจะออกเดินทางจากนครเกิ่นเทอเวลา 09.05 น. ถึงกรุงเทพมหานครเวลา 10.35 น. ราคาค่าตั๋วโดยสารไปกลับรวมค่าภาษีอยู่ที่ 201.6 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสามารถจองได้ที่เว็บไซต์ของบริษัท WorldTrans เท่านั้น
ที่มา หนังสือพิมพ์ Sai Gon Giai Phong วันที่ 29 มีนาคม 2561
2. นครโฮจิมินห์ต้องยกระดับการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว
นาย Nguyen The Trung มัคคุเทศก์จากบริษัท Trasviet Tour Company กล่าวว่า ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์หรือของที่ระลึกที่ทำจากฝีมือคนเวียดนาม หรือการเดินเที่ยวเล่นชมตัวเมือง ล้วนแต่เป็นประสบการณ์ที่ควรทำเมื่อเดินทางมาท่องเที่ยวที่นครโฮจิมินห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ อย่างไรก็ตาม ร้านขายของที่ระลึกจำนวนมากไม่สามารถตอบสนองความต้องการและรสนิยมของนักท่องเที่ยวได้ แม้จะมีสินค้ายอดนิยมอย่างผ้าปักทำมือ ผ้าไหม สินค้าทำมือ เครื่องเงิน ชา และกาแฟก็ตาม
นาย Tran Van Long ผู้อำนวยการบริษัท Viet Media Travel กล่าวว่า ระยะเวลาการท่องเที่ยวในนครโฮจิมินห์ ของนักท่องเที่ยว อยู่ที่ประมาณ 2.6 วัน แต่หากมีการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวเชิงการค้ามากขึ้น อาจจะทำให้นักท่องเที่ยวใช้เวลาท่องเที่ยวในนครโฮจิมินห์มากและใช้จ่ายสูงขึ้น โดยบริษัทที่ปรึกษา Grant Thornton ของเวียดนาม กล่าวว่า นักท่องเที่ยวส่วนมากที่มาจากจีน รัสเซีย ไต้หวัน และประเทศอื่นๆ ใช้จ่ายเพียง 860 ดอลลาร์สหรัฐต่อการเดินทางหนึ่งครั้ง ในขณะที่นักท่องเที่ยวจากยุโรปและอเมริกาเหนือมีการใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 1,400 - 1,600 ดอลลาร์สหรัฐต่อการเดินทางหนึ่งครั้ง นอกจากนี้ หน่วยงานต่างๆ ควรจะเร่งเข้ามาตรวจสอบคุณภาพสินค้าและลิขสิทธิ์ของสินค้า เพื่อทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมีความมั่นใจในการซื้อสินค้าต่างๆ
นาย Nguyen Quoc Ky ประธานบริษัท Vietravel กล่าวว่า นครโฮจิมินห์ คือ แหล่งรวบรวมศูนย์การค้าและร้านค้าที่มีคุณภาพไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งนครควรจะพัฒนาแผนการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวเชิงการค้าให้ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวมากขึ้น โดยควรเพิ่มร้านค้าและสถานบันเทิงสำหรับนักท่องเที่ยวให้มากขึ้นในบริเวณเขต 1 ใจกลางนครโฮจิมินห์ รวมถึงกิจกรรมยามค่ำคืน อาทิ กิจกรรมสังสรรค์ กิจกรรมบันเทิงต่างๆ ตลอดจนการใช้จ่ายในช่วงระหว่าง 18.00 - 02.00 น. จะก่อให้เกิดรายได้มหาศาล โดยชาวเวียดนามส่วนใหญ่ตัดสินใจไปเที่ยวที่ประเทศไทยเนื่องจากมีบริการและสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลายกว่า
นาย Bui Ta Hoang Vu ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยว กล่าวว่า ในปี 2560 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวในนครโฮจิมิน์มีจำนวนถึง 6.4 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 จากปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม รายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 12.6 หรือประมาณ 5.11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำนักงานฯ จึงมีแผนที่จะสร้างศูนย์การค้าที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในเวียดนาม ซึ่งสินค้าที่ขายจะมีราคาเหมาะสมและสามารถดึงดูดกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติได้มาก
การคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม
นาย Pham Trung Luong รองประธานสมาคม Viet Nam Tourism Education Association ภายใต้สมาคมการท่องเที่ยวของเวียดนาม กล่าวว่า หน่วยงานภาครัฐควรจะทำให้ขั้นตอนการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติง่ายขึ้น โดยในปี 2560 มีเพียง 573 ร้านค้าในนครโฮจิมินห์ที่เข้าร่วมโครงการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยวได้โดยตรง และมีนักท่องเที่ยวมาขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่สนามบินนานาชาติ Tan Son Nhat เพียงวันละ 4,400 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น
บริษัทท่องเที่ยวในเวียดนามเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญของประเทศไทย
เมื่อวันศุกร์ที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา ได้มีการจัดการอบรมระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวจากประเทศไทยและบริษัทท่องเที่ยวชั้นนำของเวียดนาม เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำธุรกิจท่องเที่ยว โดยการอบรมครั้งนี้จัดขึ้นโดยสถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ และสำนักงานการท่องเที่ยวนครโฮจิมินห์ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 100 คน โดยนางอุรีรัชต์ รัตนพฤกษ์ กงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ ได้กล่าวเปิดงานว่า การอบรมครั้งนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างทั้งสองประเทศ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่บริษัทท่องเที่ยวของเวียดนาม เนื่องจากประเทศไทยมีประสบการณ์อย่างมากในด้านการจัดการการท่องเที่ยว
ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย ได้เน้นยำถึงประเด็นต่าง ๆ เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวของเวียดนาม อาทิ สภาพแวดล้อม เทคโนโลยีสารสนเทศ ปัญญาประดิษฐ์ Online travel agency และการพัฒนาระบบการขนส่งภายในประเทศ นอกจากนั้น นอกเหนือจากประสบการณ์ในการประเมินอุปสงค์และอุปทานแล้ว การกำหนดเป้าหมายทางการตลาดเพื่อดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับเป้าหมายนั้น ๆ ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาการท่องเที่ยวของเวียดนามเช่นกัน
ผู้บริหารของสำนักงานการท่องเที่ยวนครโฮจิมินห์ กล่าวว่า การอบรมนี้เป็นเพียงหนึ่งในกิจกรรมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และปรับปรุงคุณภาพในการบริการด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญของนคร และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากประเทศไทยอีกในอนาคต
ที่มา: สำนักข่าว Vietnam Investment Review วันที่ 28 มีนาคม 2561 และหนังสือพิมพ์ The Saigon Times Daily วันที่ 1 เมษายน 2561 หน้า 1
URL: http://www.vir.com.vn/hcm-city-keen-on-developing-shopping-tourism-57724.html
3. รัฐบาลเวียดนามเลือกบริษัทฝรั่งเศสศึกษาการขยายท่าอากาศยานนานาชาติ Tan Son Nhat นครโฮจิมินห์
นาย Trinh Dinh Dung รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า ปัจจุบัน พบว่าท่าอากาศยานนานาชาติ Tan Son Nhat (TSN) มีจำนวนผู้โดยสารและการขนส่งสินค้ามีจำนวนมาก จึงส่งผลให้เกิดความแออัดในการคมนาคมทั้งภายในและภายนอกสนามบิน ดังนั้น
เพื่อเพิ่มประภาพในการให้บริการ รัฐบาลมีความจำเป็นต้องขยายท่าอากาศยานนานาชาติ TSN โดยเร็ว โดยรัฐบาลได้เลือกให้บริษัท ADP-I บริษัทที่ปรึกษาด้านการพัฒนาสนามบินสัญชาติฝรั่งเศส ซึ่งมีประสบการณ์พัฒนาท่าอากาศยานในหลายประเทศ ดำเนินการศึกษาแผนการขยายท่าอากาศยานนานาชาติ TSN เพื่อตอบสนองความต้องการในการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าในนครโฮจิมินห์และจังหวัดในภาคใต้ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ในการนี้ คณะกรรมการประชาชนนครโฮจิมินห์ได้มอบหมายให้สำนักงานคมนาคม นครโฮจิมินห์ประสานงานกับกระทรวงกลาโหมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดพื้นที่ ซึ่งเป็นที่ดินของกระทรวงกลาโหม และนำเสนอความคืบหน้าของโครงการเป็นระยะๆ
สำนักงานคมนาคมนครโฮจิมินห์ได้สั่งการให้บริษัท ADP-I แจกแจงรายละเอียดแผนการการขยายท่าอากาศยานนานาชาติ TSN อาทิ Taxiways ลาดจอดเครื่องบิน อาคารผู้โดยสารและอาคารขนส่งสินค้า ให้ชัดเจน โดยตัวแทนบริษัท ADP-I กล่าวว่า บริษัทจะเสนอแผนการขยายท่าอากาศยานนานาชาติ TNS โดยการสร้างอาคารรองรับผู้โดยสารแห่งใหม่เพิ่มเติมทางทิศใต้ ในขณะที่ทิศเหนือบริเวณสนามกอล์ฟจะใช้เป็นที่เก็บเครื่องบินและคลังสินค้า ซึ่งไม่จำเป็นต้องสร้าง Runway ใหม่ ใช้ระยะเวลาการดำเนินการภายใน 5 ปี เงินลงทุนประมาณ 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะสามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารได้มากกว่า 50 ล้านคนภายในปี 2567
ปัจจุบัน ท่าอากาศยานานาชาติ TSN รองรับผู้โดยสารถึง 36 ล้านคน/ปี ซึ่งเกินกว่าขีดความสามารถที่แท้จริงที่ 25 ล้านคน/ปี
นอกจากนั้น มีข้อคิดเห็นว่าการก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติ Long Thanh ในจังหวัดด่งนายซึ่งติดกับนครโฮจิ มินห์ ควรสร้างเมื่อ 10-15 ปีที่แล้ว และแผนการที่จะก่อสร้างภายใน 5-10 ปีข้างหน้าอาจล่าช้าเกินไป ดังนั้น ความสมดุลระหว่างการขนส่งผู้โดยสารระหว่างท่าอากาศยานนานาชาติ TSN กับท่าอากาศยานนานาชาติ Long Thanh เป็นสิ่งที่น่ากังวล อีกทั้งอาจจะต้องใช้งบประมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยการก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติ Long Thanh ได้รับการอนุมัติโดยรัฐสภาแห่งชาติครั้งที่ 13 และใช้งบประมาณทั้งสิ้น 16.03 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (โครงการระยะแรกจะใช้เงินลงทุน 5.45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 60 – 70 ล้านคน/ปี โดยการท่าอากาศเวียดนาม (Airports Corporation of Vietnam: ACV) เห็นว่า รัฐบาลควรมีกลไกพิเศษ โดยอาจแบ่งการก่อสร้างเป็นหลายส่วน ขนาดย่อม และเร่งพิจารณาการลงทุนในลักษณะความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnership: PPP) โดยเร็ว
ที่มา : หนังสือพิมพ์ Saigon Giai Phong วันที่ 29 มีนาคม 2561
4. แผนการพัฒนาภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงของเวียดนาม
นาย Tran Thu Hang รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการวางแผนการก่อสร้างและสถาปัตยกรรมกล่าวในที่ประชุมที่นครเกิ่นเทอในหัวข้อการวางแผนการพัฒนาพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงเมื่อวันศุกร์ที่ 23 มีนาคม 2561 ว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมในบริเวณภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงตามแผนพัฒนาพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงฉบับแก้ไขไปจนถึงปี 2573 ที่มีการวางวิสัยทัศน์จนถึงปี 2593 จะมุ่งเน้นไปที่ อุตสาหกรรมการเกษตร การแปรรูปป่าไม้ การประมง และอาหาร และมีแผนให้ทุกจังหวัดร่วมกันพัฒนาแหล่งวัตถุดิบ ขยายสายการผลิต ตลาดผู้บริโภค ประชาสัมพันธ์สินค้า และกระตุ้นการลงทุนด้านพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน
นาย Hang กล่าวเสริมว่า แผนการดังกล่าวยังมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจะเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ และยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ และเชื่อมต่อระบบการขนส่งสาธารณะของจังหวัดต่างๆ เข้าด้วยกัน เร่งขยายทางด่วนนครโฮจิมินห์ – อำเภอจุงลู –นครเกิ่นเทอ ไปยังจังหวัดก่าเมา และพัฒนาทางด่วนเส้นใหม่ที่เริ่มจากอำเภอห่าเตียน – อำเภอแรกยา – จังหวัดบากเลียว – อำเภอโจวดอก – นครเกิ่นเทอ – จังหวัดซ้อกจาง ปรับปรุงถนนสายหลักที่/ทางหลวงจำนวน 20 สาย และยกระดับถนนสายรอง ตลอดจนพัฒนารถไฟความเร็วสูงจากนครโฮจิมินห์ – นครเกิ่นเทอ – จังหวัดก่าเมา ตลอดจนสนับสนุนภาคเอกชนและบริษัทต่างๆ ที่มีโรงงานอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมให้มีผลประกอบการเพิ่มขึ้น
ในการพัฒนาการขนส่งทางน้ำ รัฐบาลจะเร่งพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานบริเวณแม่น้ำ Tien และแม่น้ำ Hau บริเวณคาบสมุทรก่าเมา และบริเวณทะเลตะวันออก เพื่อตอบสนองความต้องการการขนส่งสินค้า ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงมีการยกระดับการจัดการและการดูแลสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อความปลอดภัยทางการเดินเรือตลอดจนวางระบบท่อระบายน้ำใหม่
ปัจจุบัน นิคมอุตสาหกรรมด้านการแปรรูปและอุตสาหกรรมสนับสนุนสำหรับภาคการเกษตรในภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงมีพื้นที่ทั้งหมด 15,000-17,000 เฮกตาร์ และมีแผนการขยายไปเป็น 20,000-24,000 เฮกตาร์ภายในปี 2573 แต่อาจมีข้อจำกัดในการขยายพื้นที่หากมีการลงทุนที่ต่ำกว่าปัจจุบัน นอกจากนั้น นิคมอุตสาหกรรมหนักส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่จังหวัดลองอาน และเตี่ยนยาง โดยมีพื้นที่กว่า 10,000 เฮกตาร์ ซึ่งไม่ไกลจากนครโฮจิมินห์มากนัก ในขณะเดียวกัน นิคมอุตสาหกรรมด้านการเกษตรและการแปรรูปอาหารทะเลและพลังงานตั้งอยู่ในนครเกิ่นเทอ มีพื้นที่ประมาณ 1,500-1,800 เฮกตาร์
ที่มา: หนังสือพิมพ์ Saigon Times Daily วันที่ 26 มีนาคม หน้า 1
อีเมลสถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์
ติดต่อทั่วไป
แผนกเศรษฐกิจ
แผนกกงสุล (หนังสือเดินทาง, นิติกรณ์และทะเบียนราษฎร์, บัตรประชาชน, การตรวจลงตราและรับรองเอกสาร)