วันที่นำเข้าข้อมูล 30 พ.ค. 2561
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 พ.ย. 2565
ข่าวเด่นวันที่ 29 – 30 พฤษภาคม 2561
1. ขนุนสายพันธุ์ไทยมีราคาลดลงในภาคใต้ของเวียดนาม
หลังจากก่อนหน้านี้ขนุนพันธุ์ไทยที่ปลูกในภาคใต้ของเวียดนามมีราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเนื่องจากอุปสงค์ภายในและภายนอกประเทศ โดยเมื่อ 2 เดือนก่อนหน้ามีราคาถึง 45,000 – 50,000 ด่ง/กิโลกรัม (ประมาณ 45 – 50 บาท) แต่ปัจจุบัน ราคากลับลดเหลือเพียง 7,000 – 10,000 ด่ง/กิโลกรัม (ประมาณ 12 – 15 บาท) เพราะผู้ค้าชาวจีนเริ่มชะลอการนำเข้าขนุน ส่งผลให้มีขนุนสายพันธุ์ไทยล้นตลาด
นาง Thu เกษตรกรผู้ปลูกขนุนสายพันธุ์ไทยในจังหวัดเหิ่วยาง ซึ่งตั้งอยู่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงของเวียดนาม กล่าวว่า ปัจจุบันกำลังอยู่ในฤดูออกผลขนุน โดยเกษตรกรผู้ปลูกขนุนสายพันธุ์ไทยในภาคใต้ของเวียดนามจะมีราคาต้นทุนที่ 15,000 ด่ง/กิโลกรัม (ประมาณ 22 บาท) ในขณะที่ราคาที่ขายอยู่ในท้องตลาดอยู่ที่ 7,000 – 10,000 ด่ง/กิโลกรัมเท่านั้น ทำให้เกษตรกรฯ เดือดร้อนเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น ผลไม้อื่นๆ อีกหลายชนิดในบริเวณภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงก็กำลังอยู่ในฤดูออกผล ซึ่งจะส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค
สำนักงานเกษตรและการพัฒนาชนบท จังหวัดเตี่ยนยาง ชี้ให้เห็นว่า ในสัปดาห์นี้ ราคาขายส่งขนุนสายพันธุ์ไทยในจังหวัดอยู่ที่ 10,000 – 12,000 ด่ง/กิโลกรัม (ประมาณ 15 – 18 บาท) ลดลง 4,000 ด่ง/กิโลกรัม (ประมาณ 6 บาท) เมื่อเทียบกับช่วงสัปดาห์ที่แล้ว และคาดการณ์ว่า ในช่วงที่จะถึงนี้ ราคาขายขนุนสายพันธุ์ไทยจะตกลงเรื่อยๆ
ทั้งนี้ จากรายงานของกรมการเกษตร พื้นที่ปลูกขนุนสายพันธุ์ไทยในจังหวัดเหิ่วยางเพิ่มขึ้นกว่า 1,500 เฮกตาร์ เมื่อเทียบกับช่วงปีที่แล้ว เนื่องจากขนุนสายพันธุ์ไทยได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ที่มา สำนักข่าว VnExpress วันที่ 24 พฤษภาคม 2561
2. ออสเตรเลียสนับสนุนการลงทุนที่มีคุณภาพในภาคใต้ของเวียดนาม
เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2561 นาย Craig Chittick เอกอัคราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศเวียดนาม กล่าวในที่ประชุมของมหาวิทยาลัย RMIT Vietnam วิทยาเขต South Saigon ณ นครโฮจิมินห์ ระหว่างการเยือนประเทศเวียดนามอย่างเป็นทางการของนาย Peter Cosgrove ผู้สำเร็จราชการประเทศออสเตรเลียและภริยา ว่า ออสเตรเลียจะเพิ่มการลงทุนในเวียดนาม โดยจะเน้นการส่งเสริมการลงทุนที่มีประสิทธิภาพและใช้เทคโนโลยีขั้นสูง มากกว่าปริมาณการลงทุน โดยปัจจุบัน เวียดนามได้ยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน เป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดลำดับที 8 ของออสเตรเลีย และทั้งสองประเทศยังเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ร่วมกัน
นาย Chittick กล่าวเสริมว่า การลงนามเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างสองประเทศเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้ช่วยกระชับความสัมพันธ์และยกระดับความร่วมมือระหว่างสองประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา นวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยรัฐบาลออสเตรเลียจะเร่งส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนออสเตรเลียให้เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นในเวียดนามและเน้นการลงทุนที่มีคุณภาพในอนาคต โดยหนึ่งในตัวอย่างการลงทุนที่มีประสิทธิภาพของนักลงทุนชาวออสเตรเลียคือการลงทุนจัดตั้งมหาวิทยาลัย RMIT Vietnam ณ นครโฮจิมินห์
ศาสตราจารย์ Gael McDonald ประธานและผู้บริหารของมหาวิทยาลัย RMIT Vietnam กล่าวว่า มหาวิทยาลัย RMIT เวียดนาม ณ นครโฮจิมินห์ เป็นสัญลักษณ์ที่ดีที่สุดของความร่วมมือระหว่างสองประเทศ โดยมหาวิทยาลัย RMIT ได้นำทักษะการเรียนการสอนขั้นสูงมาปรับใช้สอนนักศึกษาชาวเวียดนามกว่า 6,000 คน
นาย Chittick กล่าวปิดท้ายว่า เวียดนามเป็นสถานที่ที่ดึงดูดนักลงทุนรายใหม่ๆ เนื่องจากมีการใช้เทคโนโลยีในการผลิตรูปแบบใหม่และมีแรงงานราคาถูกซึ่งเป็นข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับประเทศโดยรอบ โดยนักลงทุนชาวออสเตรเลียให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนภาคการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในบริเวณภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรชาวเวียดนามมีผลผลิตและมีรายได้เพิ่มขึ้น
ที่มา หนังสือพิมพ์ The Saigon Times Daily วันที่ 28 พฤษภาคม 2561 หน้า 1
3. การสัมมนา The 2nd Bridging ASEAN Seminar: Mergers & Acquisition ณ นครโฮจิมินห์สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสในการลงทุน M&A
นาย Ralf Pilarczyk หัวหน้าฝ่าย Mergers and Acquisitions (M&A: การควบรวมและการซื้อกิจการ) ภูมิภาคอาเซียน ประจำธนาคาร Standard Chartered กล่าวในการสัมมนา The 2nd Bridging ASEAN Seminar : Mergers & Acquisition ซึ่งจัดโดยสมาคมนักธุรกิจมาเลเซียในประเทศเวียดนามเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2561 ณ นครโฮจิมินห์ว่า การควบรวมกิจการในรูปแบบ M&A ในประเทศเวียดนามเป็นโอกาสที่ดีของนักลงทุนหลายรายเนื่องจากตลาดหลายภาคส่วนของเวียดนามมีศักยภาพในการเติบโตและมีขนาดใหญ่มาก นอกจากนั้น การถอนหุ้นของภาครัฐในบริษัทรัฐวิสาหกิจรายใหญ่หลายบริษัทก็เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างประเทศสามารถเข้ามาลงทุนในเวียดนาม
นาง Tina Tejwaney ผู้เชี่ยวชาญด้าน M&A ในภูมิภาคอาเซียนของธนาคาร Standard Chartered วิเคราะห์ว่า การลงทุนในลักษณะ M&A ในประเทศเวียดนามมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดและมั่นคง และการมีตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่ซึ่งมีประชากรจำนวนมาก เห็นได้ชัดจากการลงทุนขนาดใหญ่ของนักลงทุนไทยในช่วงที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการซื้อกิจการห้างสรรพสินค้า Big C ของกลุ่มบริษัท Central Group หรือการซื้อหุ้นร้อยละ 53.59 ในบริษัท Sabeco ของบริษัท Vietnam Beverage ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท Thai Beverage
นาง Tejwaney ประเมินว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ บริษัทที่ลงทุนในธุรกิจอุปโภคบริโภค ธุรกิจการค้าปลีก ธุรกิจโลจิสติกส์ และธุรกิจการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมมีแนวโน้มที่จะสามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติได้เป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น รัฐบาลเวียดนามอยู่ระหว่างการทบทวนข้อจำกัดการถือหุ้นในบริษัทรัฐวิสาหกิจอีกด้วย
นาย Edward Lee หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ของธนาคาร Standard Chartered แสดงความเห็นว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการลงทุนของภาครัฐในโครงการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานจะสามารถช่วยกระตุ้นการเติยโตระยะสั้นและระยะยาวได้เป็นอย่างดี
ที่มา หนังสือพิมพ์ The Saigon Times Daily วันที่ 28 พฤษภาคม 2561 หน้า 1
4. ราคาที่ดินสูงขึ้นในภาคใต้ของเวียดนาม แต่จะไม่ส่งผลให้เกิดวิกฤติการณ์ฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์
นาย Le Hoang Chau ประธานสมาคมอสังหาริมทรัพย์ นครโฮจิมินห์ (Ho Chi Minh Real Estate : HOREA) ให้สัมภาษณ์ว่า แม้ว่าปัจจุบัน ราคาที่ดินในหลายๆ พื้นที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่จะไม่ส่งผลให้เกิดวิกฤติการณ์ฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ในเวียดนามอย่างแน่นอน อย่างไรก็ดี ภาครัฐควรมีมาตรการที่รัดกุมไม่ให้เกิดการซื้อขายที่ดินที่ผิดกฎหมาย รวมถึงนโยบายด้านการปล่อยสินเชื่อที่รัดกุมยิ่งขึ้น
แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา ราคาที่ดินในหลายๆ พื้นที่ อาทิ ที่ดินบริเวณสนามบินนานาชาติ Long Thanh จังหวัดด่งนาย ที่ดินในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดกว๋างนิงห์ คั้นหว่า และเกี่ยนยาง ที่ดินในจังหวัดบริเวณรอบนครโฮจิมินห์ รวมถึงที่ดินในนครโฮจิมินห์จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ดี สมาคมฯ ประเมินว่าเป็นเรื่องปกติของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งภาครัฐมีนโยบายการจัดการได้ดีมาโดยตลาด อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่น่ากงวลมากที่สุดคือการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อผู้บริโภคในปี 2560 ที่เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และคิดเป็นร้อยละ 18 ของมูลค่าสินเชื่อทุกประเภท โดยร้อยละ 52.9 ของสินเชื่อผู้บริโภคเป็นการกู้เพื่อซื้อบ้าน สร้างบ้าน และการซ่อมบ้าน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า)
นอกจากนั้น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของประเทศยังมีข้อท้าทายที่สำคัญ 2 ประการที่ควรได้รับการแก้ไข ได้แก่ (1) การแก้ไขกฎหมายอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่พักอาศัยและ Condotel และ (2) ปัญหามีที่ดินเพื่อการเกษตรราคาสูงในบางพื้นที่ ซึ่งสมาคมฯ หวังว่าภาครัฐจะใส่ใจพิจารณาแก้ไขปัญหาข้างต้นโดยเร็ว
ที่มา สำนักข่าว Bao Tin Tuc วันที่ 27 พฤษภาคม 2561
URL: https://baotintuc.vn/bat-dong-san/sot-gia-ao-nhung-khong-co-kha-nang-gay-ra-bong-bong-bat-dong-san-trong-nam-2018-20180525122757667.htm
อีเมลสถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์
ติดต่อทั่วไป
แผนกเศรษฐกิจ
แผนกกงสุล (หนังสือเดินทาง, นิติกรณ์และทะเบียนราษฎร์, บัตรประชาชน, การตรวจลงตราและรับรองเอกสาร)