กฏหมายการแข่งขันฉบับใหม่ของเวียดนาม

กฏหมายการแข่งขันฉบับใหม่ของเวียดนาม

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 ต.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,981 view

กฏหมายการแข่งขันฉบับใหม่ของเวียดนาม

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ โดยศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในนครโฮจิมินห์ ได้จัดการบรรยายพิเศษภายใต้หัวข้อ “รู้ทันกฎหมาย เข้าใจกฎเกณฑ์ : กฎหมายการแข่งขันฉบับใหม่ การค้าปลีก และการจัดจำหน่ายในเวียดนาม”  ให้แก่ภาคเอกชนไทยในเขตกงสุล โดยเขิญวิทยากรจากบริษัทที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศชั้นนำ คือบริษัท Baker & McKenzie เวียดนาม มาบรรยายให้ข้อมูลและตอบข้อซักถาม  ทำให้ภาคเอกชนไทยที่ทำการค้าการลงทุนอยู่ในเวียดนาม หรือกำลังคิดจะเข้ามาทำธุรกิจในเวียดนามได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และเตรียมความพร้อมรับสิ่งท้าทาย ระเบียบ กฎเกณฑ์ใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น

กฎหมายการแข่งขันฉบับใหม่นี้ ผ่านการเห็นชอบของสภาแห่งชาติเวียดนามไปแล้วเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2561  หลังจากรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องเป็นเวลา 1 ปี และจะมีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคม 2562แทนที่กฎหมายการแข่งขัน ฉบับปี 2547  กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้มีการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ มีอำนาจดูแลประเด็นด้านการแข่งขันทางการค้า คือ คณะกรรมาธิการการแข่งขันแห่งชาติ (National Competition Commission: NCC) สังกัดกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม โดยหน่วยงานดังกล่าวจะมีอำนาจในการพิจารณาตัดสินว่า การดำเนินการของบริษัทต่าง ๆ เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายฉบับนี้หรือไม่

บริษัทBaker & McKenzie สรุปว่า กฎหมายการแข่งขันฉบับใหม่ของเวียดนามมีสาระสำคัญที่น่าสนใจและติดตามแนวปฏิบัติในการบังคับใช้ 5 ประเด็น ได้แก่

       (1) ขอบเขตของกฎหมายที่กว้างขึ้น ครอบคลุมถึงการดำเนินการนอกเวียดนามที่ส่งผลกระทบถึงภาวะการแข่งขันในตลาดเวียดนาม (extra-territorial outreach) จากเดิมที่ครอบคลุมเฉพาะบุคคลหรือองค์กร ละกิจกรรมในเวียดนามเท่านั้น

       (2) วิธีการพิจารณาการกระทำที่กีดกันทางการค้า โดยเดิมใช้เพียงเกณฑ์สัดส่วน กล่าวคือพิจารณาจากการครอบครองตลาดตั้งแต่ร้อยละ 30 ขึ้นไป โดยเพิ่มมิติการพิจารณาจากผลกระทบมากขึ้น จึงกำหนดให้พิจารณาผลว่าการกระทำดังกล่าวจะส่งผลกระทบหรือมีแนวโน้มที่จะขัดขวางการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ (“significant anti-competitive effect”) ส่งผลให้ NCC มีอำนาจในการตีความในเรื่องดังกล่าวอย่างเต็มที่

       (3) กำหนดมาตรการลดหย่อนผ่อนโทษ (leniency program) โดยบริษัทสามารถรายงานโดยสมัครใจเมื่อทราบว่ามีการดำเนินการใด ๆ ที่เข้าข่ายต่อต้านการแข่งขันให้ทางการทราบ ก่อนที่จะมีการตรวจสอบ ซึ่งเป็นไปตามแนวปฏิบัติระหว่างประเทศ

       (4) เกณฑ์การพิจารณาการมีสถานะอำนาจเหนือตลาด (market-dominant position)   เพิ่มเติมจากการครอบครองตลาดตั้งแต่ร้อยละ 30 ขึ้นไป โดยเพิ่มการใช้เกณฑ์ “Significant Market Power” สำหรับการพิจารณา กล่าวคือ การพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ อาทิ ขีดความสามารถในการเข้าถึง/ ควบคุม การบริโภคและการจัดจำหน่ายในตลาด ขนาดและขีดความสามารถทางการเงินของบริษัท และข้อได้เปรียบทางเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐาน  ซึ่งวิทยากรได้ยกตัวอย่างกรณีการควบรวมกิจการของ บริษัท Grab และ Uber ซึ่งถือเป็นการจำกัดตลาดและผูกขาดการให้บริการในพื้นที่

       (5) กำหนดให้แจ้งการดำเนินการที่ทำให้เกิดการควบรวมทางเศรษฐกิจ (Economic Concentration)  ซึ่งหมายรวมถึงการควบรวมธุรกิจ (merger) การรวมสินทรัพย์เพื่อจัดตั้งบริษัทใหม่ (consolidation) การเข้าซื้อกิจการ (acquisition) การร่วมกิจการ (joint venture) ที่มีหรืออาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ “significant anti-competitive effect” ต่อตลาด และเกินสัดส่วนที่กำหนดไว้ (มากกว่าร้อยละ 30 แต่ไม่เกินร้อยละ 50) จะต้องแจ้งการกระทำดังกล่าวให้ NCC พิจารณาว่าเข้าข่ายการกระทำผิดตามกฎหมายการแข่งขันฉบับใหม่นี้หรือไม่

ผู้เข้าร่วมรับฟังการบรรยายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมายฉบับใหม่ดังกล่าว โดยเฉพาะเรื่องความชัดเจนในหลักเกณฑ์ในการพิจารณาความผิด และวิธีคำนวณสัดส่วนการครอบครองตลาด โดยเฉพาะสำหรับบริษัทใหญ่ที่มีบริษัทลูกหลายบริษัท   และการพิจารณาสัดส่วนการครอบครองตลาด สำหรับบริษัทใหญ่ที่มีบริษัทลูกจำนวนมาก ซึ่งจะต้องติดตามแนวปฏิบัติหรือระเบียบของทางการเวียดนามที่จะออกมารองรับกฎหมายฉบับนี้ต่อไปในอนาคต

                       

                                                                                                สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์

                                                                                               ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในนครโฮจิมินห์

                                                                                                            สิงหาคม 2561