ธุรกิจ E-commerce ในเวียดนาม

ธุรกิจ E-commerce ในเวียดนาม

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 ต.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,702 view

ธุรกิจ E-commerce ในเวียดนาม

ปัจจุบัน มีการพูดถึงการทำธุรกิจในเวียดนามผ่านทาง E-Commerce กันอย่างกว้างขวางว่า มีศักยภาพสูงและเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดสินค้าอุปโภคและบริโภคในเวียดนาม โดยเฉพาะทางภาคใต้ เนื่องจากมีการเติบโตของชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อสูง และมีพฤติกรรมผู้บริโภคที่เอื้อต่อสินค้าประเภทดังกล่าว  วันนี้ ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในนครโฮจิมินห์ขอนำทุกท่านมารู้จักสถานการณ์ธุรกิจ E-Commerce ในเวียดนามตามที่ได้ประมวลจากแหล่งข่าวและแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ดังนี้

1. กรมการค้าออนไลน์และเทคโนโลยีสารสนเทศของเวียดนาม (Vietnam E - Commerce and Digital Economy Agency) ซึ่งสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าประมาณการว่า ในช่วงปี 2559 - 2563 ธุรกิจ E – Commerce ในเวียดนามจะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 20 ต่อปี และจะมีรายได้จากธุรกิจ E – Commerce มูลค่าสูงถึง10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2563 โดยในปี 2560 รายได้จากธุรกิจ E – Commerce มีมูลค่า 6.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 จากปี 2559

2. ธุรกิจ E – Commerce ในเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยบริษัทที่ปรึกษา Kantar Worldpanel รายงานว่า ในปี 2561 จำนวนผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าออนไลน์ใน 4 เมืองใหญ่ในเวียดนาม เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 8.8 จากร้อยละ 5.4 ในปี 2560 ทำให้นักลงทุนต่างชาติหลายรายสนใจมาลงทุนด้าน E – Logistics เพื่อตอบสนองการเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจ E – Commerce โดยเฉพาะการสั่งซื้อสินค้ารายย่อยและมีจำนวนมาก เช่น เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 บริษัท DHL E – Commerce เริ่มสร้างเครือข่ายจุดให้บริการทั่วประเทศ และมีเป้าหมายขยายเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 จุดภายในสิ้นปี 2562

3. สินค้าและบริการที่ผู้บริโภคซื้อผ่านช่องทางออนไลน์มากที่สุด ได้แก่ (1) เครื่องแต่งกายและผลิตภัณฑ์ความงาม ร้อยละ 59 (2) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ร้อยละ 47 (3) เครื่องใช้ในครัวเรือน ร้อยละ 47 (4) การจองที่พักและตั๋วเครื่องบิน ร้อยละ 31 (5) อุปกรณ์สำนักงานและของขวัญ ร้อยละ 31 โดยจะซื้อผ่านเว็บไซต์ ร้อยละ 68 โซเชียลมีเดีย เช่น Facebook ร้อยละ 51

4. ปัจจุบัน จำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในเวียดนามมีประมาณ 50 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 54 ของประชากรทั้งหมด ข้อมูลจาก Statista.com ระบุว่า  ในจำนวนนี้ ประมาณ 35.4 ล้านคนเป็นผู้ใช้ E - Commerce และในปี 2561 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 37.3 ล้านคน โดยอาจเพิ่มเป็น 42 ล้านคนในปี 2564 ค่าใช้จ่ายในการซื้อของ/บริการออนไลน์โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 62 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อคน ต่อปี ในปี 2560 และอาจสูงถึง 92 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี ในปี 2564

5. อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคมักเลือกชำระเงินปลายทางเมื่อได้รับสินค้า หรือ Cash on Delivery ถึงร้อยละ 82 เนื่องจากการชำระเงินด้วยเงินสดยังคงเป็นวิธีการชำระเงินที่แพร่หลาย สะดวกและเชื่อถือได้มากที่สุดใน เวียดนาม นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังสามารถตรวจสอบสินค้าก่อนชำระเงิน และสามารถขอเปลี่ยนหรือคืนสินค้าและปฏิเสธที่จะชำระเงินได้ทันทีหากไม่พอใจในสินค้านั้น  โดยในเว็บไซด์สินค้าออนไลน์ในเวียดนาม จะมีช่องให้เลือกจ่าย 3 แบบ คือชำระเงินปลายทาง บัตรเครดิต/บัตรเดบิต หรือบัตรเอทีเอ็มทั้งนี้ ในปี 2560 มูลค่าการชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์ของผู้บริโภคสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 มีมูลค่า 6.14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นสองเท่าภายในปี 2565 บริษัทCriteo ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาเทคโนโลยีการตลาด ได้สำรวจพฤติกรรมผู้บริโภค และพบว่า เมื่อซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ผู้บริโภคชำระเงินปลายทาง (CoD) ร้อยละ 37 ชำระเงินโดยโอนผ่านธนาคาร ร้อยละ 18 ชำระเงินผ่านบัตรเอทีเอ็ม ร้อยละ18 ชำระเงินผ่านบัตรเครดิต ร้อยละ 11 และช่องทางอื่น ๆ เช่น E – Wallet ร้อยละ 10  นอกจากนี้ ธนาคารกลางเวียดนาม มีข้อมูลว่า กว่าร้อยละ 90 ของบัตรที่ออกให้โดยธนาคาร เป็นบัตรเดบิต ซึ่งเท่ากับว่าสัดส่วนของผู้ใช้บัตรเครดิตในเวียดนาม มีจำนวนน้อยมาก  นอกจากนี้ ระบบ E-Payment ของเวียดนามจะมีใช้กับ platform การค้าออนไลน์ใหญ่ ๆ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับระบบของธนาคาร หรือ paypalแต่หากเป็นผู้ค้ารายย่อยใน Facebook หรือ Instagram มักจะชำระเงินปลายทาง ซึ่งเป็นพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวเวียดนาม

จะเห็นได้ว่า วิธีการและขั้นตอนการชำระเงินและการรับสินค้าในธุรกิจ E – Commerce ในไทยกับเวียดนาม แตกต่างกัน ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการมาลงทุนในธุรกิจ E – Commerce หรือค้าขายแบบออนไลน์ในเวียดนาม  จึงควรคำนึงว่า (1) จะต้องอำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคด้านการชำระเงินให้มีความหลากหลาย และ (2) การอำนวยความสะดวกด้านบริการหลังขายและพร้อมให้ผู้บริโภคตรวจสอบสินค้า และหากไม่พอใจในสินค้าสามารถเปลี่ยนหรือคืนได้ ซึ่งผู้ประกอบการต่างชาติที่มาลงทุนในธุรกิจ E – Commerce และโลจิสติกส์ในเวียดนาม เช่น บริษัท DHL E – Commerce และ Lazada จำเป็นต้องปรับตัวและเพิ่มการชำระเงินปลายทางเพื่อให้เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจในเวียดนามเช่นกัน

 

                                                                                    ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในนครโฮจิมินห์

                                                                                    สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์