ความสัมพันธ์ไทย - เวียดนาม

ความสัมพันธ์ไทย - เวียดนาม

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 พ.ย. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 102,523 view

ความสัมพันธ์ไทย - เวียดนาม


ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับเวียดนาม

1.ภาพรวมความสัมพันธ์ทั่วไป

- ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเวียดนามเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2519 และเปิดสถานเอกอัครราชทูตที่กรุงฮานอย และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ เมื่อปี 2521 และ 2535 ตามลำดับ  สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย ประกอบด้วยสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารและสำนักงานส่งเสริมการค้าไทยในต่างประเทศ ส่วนสถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ ประกอบด้วยฝ่ายการพาณิชย์ และสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

- ความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทย - เวียดนาม ในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ดีมาก ไม่มีปัญหาสำคัญค้างคา มีการแลกเปลี่ยนการเยือนในทุกระดับอย่างต่อเนื่อง มีการไปมาหาสู่ระหว่างกันเพิ่มขึ้น รวมถึงในระดับท้องถิ่นจากการที่มีเส้นทางเชื่อมโยงถึงกันค่อนข้างสะดวก

- เมื่อพิจารณาจากปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ สถานะทางการเมือง ขนาดของประเทศ ขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของเวียดนาม เจตนารมณ์ที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ที่มั่นคงและความเข้าใจอันดีกับไทยเพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว การพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือไทย - เวียดนาม ตลอดระยะที่ผ่านมา จึงมีลักษณะของการพัฒนาความร่วมมือบนผลประโยชน์ร่วมกันในเชิง "หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์"

2.ความสัมพันธ์ด้านการเมืองและความมั่นคง

- ไทยและเวียดนามมีการวางกรอบความร่วมมือทวิภาคีหลายด้านในระดับต่าง ๆ  เช่น ในระดับสูงสุด มีกรอบการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย-เวียดนาม อย่างไม่เป็นทางการ (Joint Cabinet Retreat: JCR) ระดับรองลงมามีกลไกการหารือร่วม (Joint Consultative Mechanism: JCM) ซึ่งเป็นกลไกการหารือระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทำหน้าที่ดูแลกรอบความสัมพันธ์และประสานความร่วมมือในภาพรวม

- ประเด็นด้านความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างไทยและเวียดนามอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะทำงานร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง (Joint Working Group on Political and Security Cooperation: JWG on PSC) ซึ่งมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นประธานฝ่ายไทย ปัจจุบันไทยและเวียดนามตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อรับมือกับสิ่งท้าทายใหม่ ๆ ที่เพิ่มขึ้นในอนุภูมิภาค โดยมีแผนงานความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง “Thailand-Vietnam Joint Plan of Action on Political and Security Cooperation (2008-2010)” กำหนดกรอบความร่วมมือ

- สำหรับด้านการทหาร มีบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการลาดตระเวนร่วมระหว่างกองทัพเรือไทย-กองทัพเรือเวียดนาม รวมทั้งมีการประชุมคณะทำงานร่วมไทย-เวียดนาม ว่าด้วยการจัดระเบียบทางทะเลอย่างสม่ำเสมอ

3. ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ

3.1 การค้า

ไทย เป็นคู่ค้าอันดับที่ 9 ของเวียดนาม ในปี 2552 วิกฤตเศรษฐกิจโลกส่งผลให้มูลค่าการค้าไทย-เวียดนาม ลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 5,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2551 มูลค่าการค้ารวม 6,463.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้เปรียบดุลการค้า 3,310.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ส่วนเวียดนามเป็นคู่ค้าอันดับที่ 13 ของไทย (โดยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ในอาเซียนรองจากสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย) สินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปเวียดนาม ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ปูนซิเมนต์  ส่วนสินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากเวียดนาม ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันดิบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ด้ายและเส้นใย เครื่องมือเครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ อาหารทะเลแช่เย็น แช่แข็ง เคมีภัณฑ์ กาแฟ ชา และเครื่องเทศ

3.2 การลงทุน

ใน ปี 2552 ไทยลงทุนในเวียดนามสูงเป็นอันดับที่ 10 จากนักลงทุนต่างชาติทั้งหมด มีโครงการต่าง ๆ รวม 216 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวม 5,749.52 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แหล่งใหญ่ที่สุดในเวียดนามที่เอกชนไทยไปลงทุน คือ นครโฮจิมินห์และจังหวัดข้างเคียง เช่น จังหวัดด่องไน (Dong Nai) จังหวัดบิ่นห์เซือง (Binh Duong) ในสาขาสำคัญ ได้แก่ การท่องเที่ยว โรงแรม การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนานิคมอุตสาหกรรม เคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมการเกษตร อาหารสัตว์ อุตสาหกรรมพลาสติก ชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ โดย ร้อยละ 67 ของการลงทุนของไทยในเวียดนาม มีคนไทยเป็นผู้ถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ และมีบริษัทไทยที่สำคัญ ได้แก่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ลงทุนด้านอาหารสัตว์ เครือซีเมนต์ไทยลงทุนในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ กระดาษ และวัสดุก่อสร้าง และกลุ่มอมตะลงทุนพัฒนาเขตอุตสาหกรรม เป็นต้น

3.3 การท่องเที่ยว

ทั้งสองประเทศมีความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2537 และมีความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดา ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2543 โดยสถิติเมื่อสิ้นปี 2551 นักท่องเที่ยวสัญชาติเวียดนามเดินทางเข้าไทย 3.3 แสนคน ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปเวียดนามมีจำนวน 1.8 แสนคน ทั้งนี้ ประมาณร้อยละ 50 ของจำนวนนี้ (ทั้งสองฝ่าย) เดินทางทางบกผ่านเส้นทางหมายเลข 9

4. ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและวิชาการ

- ไทยและเวียดนามลงนามในความตกลงด้านวัฒนธรรมเมื่อปี 2539 และเมื่อพิจารณาถึงสถานะความสัมพันธ์ที่ดี ระดับการพัฒนาที่ไม่ห่างกันมาก และความไว้เนื้อเชื่อใจกัน จึงถือได้ว่าเวียดนามมีความพร้อมที่จะร่วมมือกับไทยในด้านวัฒนธรรมค่อนข้างมาก นอกจากนั้นชาวไทยเชื้อสายเวียดนามยังสามารถเป็นพลังสำคัญ ในการผลักดันความร่วมมือด้านนี้ด้วยอีกทางหนึ่ง

- ไทยให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่เวียดนามตั้งแต่ปี 2535 (ค.ศ. 1982) ผ่านกรอบการประชุมความร่วมมือทางวิชาการไทย-เวียดนาม ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) ปัจจุบันมีการแลกเปลี่ยนการสอนภาษาโดยมีการสอนภาษาไทยในมหาวิทยาลัย 5 แห่งของเวียดนาม (ที่กรุงฮานอย นครโฮจิมินห์และนครดานัง) และสถาบันการศึกษาของไทยหลายแห่งก็เปิดการสอนภาษาเวียดนาม

- เวียดนามยังให้ความสนใจในการพัฒนาหมู่บ้านมิตรภาพไทย - เวียดนาม ที่บ้านนาจอก ตำบลหนองญาติ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นสถานที่ที่อดีตประธานาธิบดีโฮจิมินห์เคยพำนักในช่วงกอบกู้เอกราช เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม และเวียดนามยังได้สนับสนุนงบประมาณ 350,000 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2549 สร้างโรงเรียนสอนภาษาเวียดนามที่จังหวัดนครพนม (หรือที่เรียกว่า “ศูนย์มิตรภาพนครพนม-ฮานอย”) ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-เวียดนาม โดยจังหวัดนครพนมได้ทำพิธีเปิดศูนย์มิตรภาพฯ อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2551

- ศาสนาเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้ชาวไทยและชาวเวียดนามมีความใกล้ชิดและความเข้าใจระหว่างกันมากขึ้น แม้ว่าในความเป็นจริงจะมีชาวเวียดนามเพียงร้อยละ 9.3 เท่านั้นที่นับถือศาสนาพุทธ (นิกายมหายาน) นับตั้งแต่ปี 2547 ประเทศไทยได้นำผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวายที่เวียดนามเป็นประจำทุกปี ในปี 2552 ไทยจัดผ้าพระกฐินไปทอดถวายที่วัดโฮ ฟ๊าบ (Ho Phap) จังหวัดบาเรียวุงเต่า และในปี 2553 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย จัดผ้าพระกฐินไปทอดถวายที่วัดตามบ่าว (Tam Bao) ซึ่งเป็นวัดพุทธนิกายเถรวาทแห่งเดียวในนครดานัง

- กลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนและกระชับความสัมพันธ์ภาคประชาชนระหว่างไทยและเวียดนาม ได้แก่ สมาคมมิตรภาพไทย-เวียดนาม และสมาคมมิตรภาพเวียดนาม-ไทย โดยไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมร่วมกันของสองสมาคมครั้งที่ 1 ขึ้นเมื่อวันที่ 11-13 มีนาคม 2553 ที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งสมาคมมิตรภาพทั้งสองได้กำหนดกิจกรรมและโครงการร่วมกันสำหรับปี 2553 ด้วยแล้ว เช่น การแลกเปลี่ยนเยาวชนไทยกับเยาวชนเวียดนาม การส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาไทยและภาษาเวียดนามในระดับมัธยมและอุดมศึกษา และการแลกเปลี่ยนบุคลากรด้านการศึกษา และในชั้นนี้ สมาคมมิตรภาพไทย-เวียดนามอยู่ระหว่าง การพิจารณาจัดกิจกรรมเข้าร่วมในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 1,000 ปีกรุงฮานอยในช่วงเดือนตุลาคม 2553

5. ความสัมพันธ์ด้านต่างประเทศ

5.1 การเยือนที่สำคัญ

ฝ่ายไทย

พระราชวงศ์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

- เมื่อวันที่ 18-21 ธันวาคม 2502 เสด็จฯ เยือนเวียดนามใต้

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

- เมื่อ วันที่ 15-20 พฤศจิกายน 2535 เสด็จฯ เยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ ในฐานะผู้แทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามคำเชิญของประธานาธิบดีเล ดึ๊ก แอง (Le Duc Anh) และต่อมาได้เสด็จฯ เยือนเวียดนามอีกหลายครั้ง ได้แก่ เมื่อวันที่ 5-9 กันยายน 2540 และเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2548และ 24 ธันวาคม 2550 (ทรงทำการบินไปนครโฮจิมินห์) 31 มกราคม 2551 (ทรงทำการบินไปกรุงฮานอย) และ 13 พฤษภาคม 2551 (ทรงทำการบินไปนครดานัง)

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

- เมื่อวันที่ 17-23 กุมภาพันธ์ 2536 เสด็จฯ เยือนเวียดนาม ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรีโว วัน เกี๊ยต ** (Vo Van Kiet) ต่อมาเสด็จฯ เยือนเวียดนามครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 17-21 เมษายน 2543 และเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2552 เสด็จฯ เยือนเพื่อทรงนำคณะนักเรียนนายร้อยจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ และคณาจารย์รวม 84 คน ทัศนศึกษา ณ กรุงฮานอย

- เมื่อวันที่ 7-13 มีนาคม 2537 เสด็จฯ เยือนเวียดนาม

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

- เมื่อวันที่ 8-12 พฤศจิกายน 2541 เสด็จฯ เยือนเวียดนามและต่อมาได้เสด็จฯ เยือนเวียดนามอีกหลายครั้ง อาทิ เมื่อวันที่ 11-15 พฤศจิกายน 2544 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2546 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม 2546  เมื่อวันที่ 14 – 18 กรกฎาคม 2551 และล่าสุด เมื่อวันที่ 3 – 5 กุมภาพันธ์ 2553 เสด็จฯ เยือนเพื่อทรงนำคณะนักวิจัยเข้าร่วมการประชุมเชิงวิชาการเรื่อง Arsenic Exposure: Implications for Human Health ณ กรุงฮานอย

พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์

- เมื่อวันที่ 18-22 พฤษภาคม 2548 เสด็จเยือนเวียดนาม เพื่อทรงแข่งขันแบดมินตัน

รัฐบาล

นายกรัฐมนตรี (นายอานันท์ ปันยารชุน)

- เมื่อวันที่ 15-17 มกราคม 2535 เยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ

นายกรัฐมนตรี (นายชวน หลีกภัย)

- เมื่อวันที่ 16-19 มีนาคม 2537 เยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ

นายกรัฐมนตรี (นายบรรหาร ศิลปอาชา)

นายกรัฐมนตรี (พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ)

- เมื่อวันที่ 30-31 มีนาคม 2540 เยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ

นายกรัฐมนตรี (พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร)

- เมื่อวันที่ 25-26 เมษายน 2544 เยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ และต่อมาได้เยือนเวียดนามอีกหลายครั้ง ได้แก่ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547 เพื่อประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย

- เวียดนาม ครั้งที่ 1 และเมื่อวันที่ 8-9 ตุลาคม 2547 เพื่อร่วมประชุมสุดยอดผู้นำ ASEM ครั้งที่ 5

นายกรัฐมนตรี>

- เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2549 เยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ และต่อมาเมื่อวันที่ 17-19 พฤศจิกายน 2549 ได้เยือนเวียดนาม เพื่อร่วมประชุมผู้นำ APEC ครั้งที่ 14

นายกรัฐมนตรี (นายสมัคร สุนทรเวช)

- เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2551 เยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ

นายกรัฐมนตรี (นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์)

- เมื่อวันที่ 6-7 พฤศจิกายน 2551 เยือนเวียดนามเพื่อร่วมการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิร วดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ครั้งที่ 3

นายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)

- เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2552 เยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ

ฝ่ายเวียดนาม

ประธานาธิบดี (นายเจิ่น ดึ๊ก เลือง)

- เมื่อวันที่ 6-8 ตุลาคม 2541 เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (State Visit)

นายกรัฐมนตรี (นายฟาม วัน ดง)

- เมื่อวันที่ 6-10 กันยายน 2521 เยือนไทยอย่างเป็นทางการ

นายกรัฐมนตรี (นายโว วัน เกี๊ยต)

- เมื่อวันที่ 27-30 ตุลาคม 2534 เยือนไทยอย่างเป็นทางการ

นายกรัฐมนตรี (นายฟาน วัน ข่าย)

- เมื่อวันที่ 9-12 พฤษภาคม 2543 เยือนไทยอย่างเป็นทางการ และต่อมาได้เยือนไทยอีกหลายครั้ง ได้แก่ เมื่อวันที่ 20-21 ตุลาคม 2546 เพื่อร่วมประชุมผู้นำ APEC ครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2547 เพื่อร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีร่วม ไทย - เวียดนาม ครั้งที่ 1 ที่จังหวัดนครพนม และเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2548 เพื่อร่วมประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 2

นายกรัฐมนตรี (นายเหวียน เติน สุง)
- เมื่อวันที่ 20-21 ธันวาคม 2549 เยือนไทยอย่างเป็นทางการ
- เมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 4-5 เมษายน 2553 เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 1 (1st MRC Summit) ณ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

5.2 การประชุมที่สำคัญ

<ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Political Consultation Group ครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นการประชุมระดับรองปลัดกระทรวง ระหว่างกระทรวงการต่างประเทศของไทยและเวียดนาม ในวันที่ 25 – 26 มีนาคม 2553 ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ไทยและเวียดนามทบทวนภาพรวมความสัมพันธ์และปรับปรุงกลไก ต่าง ๆ เพื่อดำเนินความร่วมมือทวิภาคีให้ชัดเจนและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

6. เรื่องอื่น ๆ

รัฐบาลไทยได้มอบความช่วยเหลือผ่านกาชาดเวียดนาม จำนวน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ  เพื่อช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้แก่เวียดนามต่อกรณีความเสียหายจากพายุ Ketsana  โดยเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอยเป็นผู้แทนส่งมอบความช่วยเหลือดังกล่าวผ่าน ดร. Tran Ngoc Tang ประธานกาชาดเวียดนามเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2552

(แหล่งข้อมูล: กระทรวงการต่างประเทศ เมษายน 2553)

* ในช่วงเวลาดังกล่าวเวียดนามยังคงแยกเป็น 2 ประเทศคือ เวียดนามเหนือและเวียดนามใต้

** ถึงแก่อสัญกรรมแล้วเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2551 รวมอายุ 86 ปี