ข่าวเด่นวันที่ 1-15 กันยายน 2563

ข่าวเด่นวันที่ 1-15 กันยายน 2563

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ก.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 942 view

เวียดนามส่งออกกุ้งไปยังเกาหลีใต้เพิ่มสูงขึ้น

korea_shrimp_export

สมาคมผู้ผลิตและส่งออกอาหารทะเล (VASEP) คาดการณ์ว่าในปี 2563 เวียดนามจะส่งออกกุ้งไปยังประเทศเกาหลีใต้เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีราคากุ้งส่งออกอยู่ในระดับสูงและได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีร่วมกัน ทั้งนี้ แม้ว่าปริมาณการส่งออกไปยังเกาหลีใต้จะไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่เกาหลีใต้ยังเป็นผู้นำเข้ากุ้งจากเวียดนามมากเป็นอันดับที่ 5 คิดสัดส่วนเป็นร้อยละ 10.7 ของการส่งออกกุ้งทั้งหมดของเวียดนามและเป็นร้อยละ 52 ของการนำเข้ากุ้งทั้งหมดของเกาหลีใต้ โดยใน 7 เดือนแรกของปี 2563 เกาหลีใต้นำเข้ากุ้งจากเวียดนามมูลค่า 179 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 2 เกาหลีใต้นำเข้ากุ้งจากเวียดนามมูลค่า 91.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 โดยเป็นกุ้งขาวร้อยละ 83 และกุ้งกุลาดำร้อยละ 12.1

ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างเวียดนามและเกาหลีใต้ เวียดนามได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้ากุ้งจากเกาหลีใต้ถึง 15,000 ตันต่อปี อย่างไรก็ดี สามารถส่งออกได้เพียง 2,500 ตัน ดังนั้นเพื่อใช้ประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้าดังกล่าว เวียดนามควรพัฒนาคุณภาพกุ้งให้สูงขึ้นและติดตามมาตรการและระเบียบของเกาหลีใต้อย่างต่อเนื่อง โดยหน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่นควรส่งเสริมให้เกษตรกรทำฟาร์มกุ้งที่ได้มาตรฐานสากล มีระบบชลประทานและโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการเลี้ยงกุ้งได้คุณภาพดี ส่วนบริษัทส่งออกต้องปฏิบัติตามระเบียบอย่างเคร่งครัด ทั้งในด้านระยะเวลาการจัดส่งและการบรรจุสินค้า

นอกจากเกาหลีใต้แล้ว ตลาดส่งออกกุ้งหลักของเวียดนาม ได้แก่ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป จีนและสหรัฐ โดยใน 5 เดือนแรกของปี 2563 เวียดนามส่งออกกุ้งมูลค่า 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยกุ้งขาวคิดเป็นร้อยละ 69.5 และกุ้งกุลาดำคิดเป็นร้อยละ 19.2

อนึ่ง พื้นที่เลี้ยงกุ้งส่วนใหญ่มาจากภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงของเวียดนามโดยมีจังหวัดบักเลียวและก่าเมาเป็นศูนย์กลางการผลิตกุ้งที่สำคัญ

ที่มา: Vietnam News วันที่ 24 สิงหาคม 2563

https://vietnamnews.vn/print/viet-nam-shrimp-exports-to-south-korea-to-edge-up-vasep/771492.html

 

นครโฮจิมินห์ชูจุดเด่น 9 ประการเพื่อดึงดูดนักลงทุนจากสหรัฐฯ

hcm_9_advantage

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563 คณะกรรมการประชาชนนครโฮจิมินห์ร่วมกับสถานกงสุลใหญ่สหรัฐฯ ณ นครโฮจิมินห์และหอการค้าสหรัฐฯ จัดงานสัมมนา HCMC-US Business Summit: Driving Partnership and Innovation for the Future เนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างเวียดนามและสหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนของวหรัฐฯ ในนคร โดยเฉพาะในธุรกิจด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมและผลักดันให้นครโฮจิมินห์กลายเป็นเมืองอัจฉริยะและศูนย์กลางด้านการเงินของภูมิภาค

ภายในงาน นาย Nguyen Thien Nhan เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์นครโฮจิมินห์นำเสนอถึงจุดเด่น 9 ประการของนครโฮจิมินห์ที่จะเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนสหรัฐฯ ได้แก่

(1) นครโฮจิมินห์เป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของเวียดนามซึ่งมีประชากรกว่า 10 ล้านคนและมีชาวต่างชาติจำนวนมากที่อาศัยและทำงานอยู่ในนคร รวมถึงมีความหลากหลายด้านวัฒนธรรมและอาหาร ทั้งอาหารอเมริกัน ฝรั่งเศส อิตาเลียนและสัญชาติอื่นๆ อีกจำนวนมาก

(2) นครโฮจิมินห์มีแรงงานจำนวนมากกว่าปริมาณเฉลี่ยของทั้งประเทศ

(3) นครโฮจิมินห์มีสัดส่วนมูลค่า GDP เป็นร้อยละ 25 ของประเทศและสร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนมีโอกาสในการพัฒนาและขยายการลงทุนสูง โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจด้านเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI)

(4) ภายในนครมี Quang Trung Software City ซึ่งเป็นศูนย์ซอฟท์แวร์ที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนามที่ส่งออกผลิตภัณฑ์ด้านซอฟท์แวร์เป็นมูลค่ากว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

(5) ปัจจุบัน มีนักลงทุนจากสหรัฐฯ ในนครแล้วกว่า 160 ราย โดยมีมูลค่าการส่งออกรวม 6.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

(6) นครเพียบพร้อมด้วยแหล่งผลิตแรงงานทักษะทั้งสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยและห้องทดลอง

(7) นครมีโครงสร้างที่เพียบพร้อมโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบคมนาคม

(8) นครเป็นเมืองแห่งพลวัตและนวัตกรรมที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงและกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาเขตที่อยู่อาศัย Thu Thiem เป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมอีกด้วย

(9) นครกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาเขตเมืองใหม่ในเขตตะวันออกของนครที่มีพื้นที่ 210 ตารางกิโลเมตร และคาดการณ์ว่าจะเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของเวียดนาม

ในการนี้ คณะกรรมการประชาชนนครฯ ได้ให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนนักลงทุนสหรัฐฯ ท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 และความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพแวดล้อมต่อไป

อนึ่ง เวียดนามเป็นคู่ค้าอันดับที่ 13 ของสหรัฐฯ โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 7.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 และ 3.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในครึ่งแรกของปี 2563

ที่มา: Saigon Times วันที่ 25 สิงหาคม 2563

https://english.thesaigontimes.vn/78233/hcmc-offers-nine-advantages-to-us-investors-city-leader.html

 

จังหวัดนิญถ่วนเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการท่าเรือ Ca Na

ca_na_port

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563 จังหวัดนิญถ่วนได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างระยะแรกของโครงการท่าเรือ Ca Na มูลค่าการลงทุน 63 ล้านดอลลาร์สหรัฐและครอบคลุมพื้นที่ 108 เฮกตาร์บนชายหาด Ca Na ตำบล Phuoc Diem อำเภอ Thuan Nam โดยบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการ ได้แก่ บริษัท Trung Nam Group

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าเมื่อก่อสร้างระยะแล้วเสร็จ ท่าเรือจะสามารถรองรับเรือบรรทุกสินค้าปีละกว่า 3.3 ล้านตัน โดยจะประกอบด้วยท่าเทียบเรือ 2 แห่งที่สามารถรองรับเรือระวางขนาด 70,000-100,000 DWT ซึ่งท่าเรือแห่งแรกจะก่อสร้างเสร็จในช่วงปลายปี 2565 และเปิดใช้งานในเดือนตุลาคม 2568 ส่วนแห่งที่สองสามารถรองรับเรือขนาด 20,000 DWT มีแผนเปิดใช้งานในเดือนสิงหาคม 2569 นอกจากนี้ ในพื้นที่จะประกอบด้วยโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ โกดังสินค้า บริการด้านโลจิสติกส์และอื่นๆ โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคนิคและการคมนาคมและยังใช้เทคโนโลยีทันสมัยในการขนย้ายสินค้าอีกด้วย

โครงการท่าเรือดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมภายในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง อาทิ ภูมิภาคภาคกลางตอนล่างและพื้นที่ที่ราบสูง (Tay Nguyen) และจะมีบทบาทที่สำคัญในการขนส่งชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับโครงการพลังงานหมุนเวียนในจังหวัดนิญถ่วนด้วย

อนึ่ง บริษัท Trung Nam Group ได้ลงทุนโครงการพลังงานหมุนเวียนในจังหวัดนิญถ่วนแล้ว 8 โครงการ กำลังการผลิตรวมกว่า 600 เมกะวัตต์และกำลังจะเปิดดำเนินการโครงการพลังงานแสงอาทิตย์อีก 1 แห่ง กำลังการผลิต
450 เมกะวัตต์ในปี 2563 นอกจากนี้ บริษัทยังได้ลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบูรณะศูนย์สังคมสงเคราะห์และสถานศึกษาในอำเภอ Thuan Nam รวมมูลค่ากว่า 7.7 พันล้านด่ง (332,000 ดอลลาร์สหรัฐ)

ที่มา: Vietnam News วันที่ 26 สิงหาคม 2563

https://vietnamnews.vn/economy/771626/work-starts-on-ca-na-sea-port-complex.html

 

จังหวัดบ่าเหรี่ย-หวุงเต่าขึ้นแท่นดึงดูด FDI ลำดับต้นระหว่างปี 2559-2563

brvt_fdi

กรมการวางแผนและการลงทุนจังหวัดบ่าเหรี่ย-หวุงเต่ารายงานว่า ในระหว่างช่วงปี 2559-2563 จังหวัดบ่าเหรี่ย-หวุงเต่าเป็นหนึ่งในจังหวัดที่สามารถดึงดูดการลงทุนได้มากที่สุดในเวียดนาม โดยโครงการลงทุนภาครัฐมีมูลค่าการลงทุนเฉลี่ยโครงการละ 10.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โครงการภาคเอกชนมีมูลค่าการลงทุนเฉลี่ยโครงการละ 410,445 ล้านดอลลาร์สหรัฐและโครงการ FDI มีมูลค่าการลงทุนเฉลี่ยโครงการละ 103 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในช่วงระหว่างปี 2559-2563 จังหวัดได้อนุมัติการลงทุนแก่โครงการ FDI 163 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มากเป็นอันดับ 4 ในประเทศและมีโครงการลงทุนภายในประเทศ 216 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 80 ล้านล้านด่ง (3.44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มเงินลงทุนในโครงการ FDI 96 โครงการ มูลค่ารวม 2.57 พันล้านดอลลาร์สหรัฐและโครงการลงทุนภายในประเทศ 51 โครงการ มูลค่ารวม 14.7 ล้านล้านด่ง (632.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

จนถึงปัจจุบัน จังหวัดมีโครงการ FDI ทั้งหมด 415 โครงการจาก 30 ประเทศ มูลค่าการลงทุนรวม 2.95 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐและมีโครงการลงทุนภายในประเทศทั้งหมด 605 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 307 ล้านล้านด่ง (1.32 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จังหวัดมีธุรกิจจัดตั้งใหม่ 7,800 ราย มูลค่าการลงทุน 74 ล้านล้านด่ง (3.18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 44 ในแง่จำนวนธุรกิจและเพิ่มขึ้นร้อยละ 86 ในแง่มูลค่าการลงทุนเมื่อเทียบกับช่วงปี 2554-2558 นอกจากนี้ การลงทุนภาครัฐมีมูลค่า 233 ล้านล้านด่ง (1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.6 (ทั้งนี้ นักลงทุนจากประเทศไทยเข้ามาลงทุนในจังหวัดบ่าเหรี่ย-หวุงเต่ามากที่สุดในบรรดาพื้นที่ต่างๆ ในเวียดนามในเชิงมูลค่าการลงทุนในสาขาต่างๆ เช่น ปิโตรเคมีและเพาะพันธุ์กุ้ง)

ที่มา: Vietnam Plus วันที่ 31 สิงหาคม 2563

https://en.vietnamplus.vn/ba-ria-vung-tau-among-top-localities-in-fdi-attraction-during-20162020/182170.vnp

 

เวียดนามอนุมัติแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเกลือระหว่างปี 2564-2573

salt_industry

นาย Trinh Dinh Dung รองนายกรัฐมนตรีเวียดนามได้อนุมัติแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเกลือของเวียดนามอย่างยั่งยืนและสามารถตอบสนองการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงพัฒนาผลผลิต คุณภาพและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และเพิ่มความสามารถในการส่งออกเกลือของเวียดนาม โดยตั้งเป้าหมายให้เวียดนามมีพื้นที่นาเกลือทั้งหมด 14,500 เฮกตาร์และมีผลผลิต 1.5 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2568 และต่อไป มีเป้าหมายให้มีพื้นที่นาเกลือทั้งหมด 14,244 เฮกตาร์ และมีผลผลิต 2 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2573 ในการนี้ รัฐบาลเวียดนามจะสนับสนุนให้มีการผลิตเกลือระดับอุตสาหกรรมในจังหวัดคั้ญหว่า นิญถ่วน และบิ่ญถ่วน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป และจะลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสนับสนุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ในการผลิตเกลือเพื่อเพิ่มความหลากหลายและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ในจังหวัดท้ายบิ่ญ นามดิ่ญ ทันว้า เหงะอาน ห่าติ๋ญ กว๋างหงาย ฟู้เอียน บิ่ญดิ่ญ บ่าเหรี่ย-หวุงเต่า นครโฮจิมินห์ เบ๊นแจ จ่าวิญ ซอกจาง บักเลียว และก่าเมา

นอกจากนี้ แผนพัฒนาฯ ยังกำหนดให้พัฒนาอุตสาหกรรมเกลือควบคู่ไปกับการท่องเที่ยว โดยสร้างรีสอร์ทในชุมชนที่ทำนาเกลือ อาทิ นาเกลือ Thuy Hai จังหวัดท้ายบิ่ญ, นาเกลือ Bach Long จังหวัดนามดิ่ญ, นาเกลือ Ho Do และ Ky Ha-Ky Anh จังหวัดห่าติ๋ญ, นาเกลือ Sa Huynh จังหวัดกว๋างหงาย, นาเกลือ Hon Khoi จังหวัดคั้ญหว่า และนาเกลือ Can Gio นครโฮจิมินห์

อนึ่ง แผนพัฒนาอุตสาหกรรมเกลือดังกล่าวมีเป้าหมายให้อุตสาหกรรมเกลือของเวียดนามมีผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานสากลและมีคุณค่าทางโภชนาการ รวมถึงช่วยให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดย่อม สามารถรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้

ที่มา: Saigon Giai Phong Online วันที่ 3 กันยายน 2563

https://sggpnews.org.vn/business/vietnam-approves-development-plan-for-salt-industry-in-2021-2030-88294.html

http://baochinhphu.vn/Chi-dao-quyet-dinh-cua-Chinh-phu-Thu-tuong-Chinh-phu/Phe-duyet-De-an-phat-trien-nganh-muoi/405899.vgp

 

ท่าเรือในภาคกลางตอนล่าง ปัจจัยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเวียดนาม

southern_central_ports

การก่อสร้างระบบท่าเรือในภาคกลางตอนล่างของเวียดนามจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจทางทะเลของภูมิภาค โดยเฉพาะท่าเรือ Ca Na จังหวัดนิญถ่วนที่ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างไปในเดือนสิงหาคม 2563 ครอบคลุมพื้นที่ 108 เฮกตาร์และมีมูลค่าการลงทุน 63.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งจะมีบทบาทที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและดึงดูดการลงทุน ในระยะแรก ท่าเรือจะสามารถรองรับเรือบรรทุกสินค้าปีละกว่า 3.3 ล้านตัน โดยจะประกอบด้วยท่าเทียบเรือ 2 แห่งที่สามารถรองรับเรือระวางขนาด 70,000-100,000 DWT ซึ่งท่าเรือแห่งแรกจะก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2565 และเปิดใช้งานในเดือนตุลาคม 2568 ส่วนแห่งที่สองสามารถรองรับเรือขนาด 20,000 DWT มีแผนเปิดใช้งานในเดือนสิงหาคม 2569

ท่าเรือ Ca Na จะช่วยส่งเสริมการส่งออกและตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปในนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดนิญถ่วนและจังหวัดใกล้เคียงในภาคกลางตอนล่างและจังหวัดบริเวณพื้นที่ที่ราบสูง รวมถึงจะมีบทบาทที่สำคัญในการขนส่งชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับโครงการพลังงานหมุนเวียนในจังหวัดนิญถ่วนด้วย

นอกจากนี้ จังหวัดบิ่ญถ่วนมีแผนการก่อสร้างท่าเรือนานาชาติ Son My ในอำเภอ Ham Tan เพื่อรองรับโรงงานผลิตไฟฟ้าจาก LNG ที่แหลม Mui Ke Ga โดยจะประกอบด้วยท่าเทียบเรือเฉพาะสำหรับการขนย้าย
ก๊าซธรรมชาติ (LNG) ซึ่งสามารถรองรับเรือระวางขนาด 100,000 DWT ท่าเรือสำหรับรองรับนักท่องเที่ยวขนาด 225,000 GRT และท่าเรือทั่วไปรองรับเรือขนาด 50,000 DWT

จังหวัดคั้ญหว่ามีท่าเรือ 16 แห่ง ซึ่งจำนวนมากที่สุดในภูมิภาคภาคกลางตอนล่าง โดยท่าเรือ Nam Van Phong ในเขตเศรษฐกิจ Bac Van Phong สามารถรองรับเรือระวางขนาด 70,000 DWT และจะเพิ่มเป็น 100,000 DWT ในอนาคต ส่วนท่าเรือ Nam Van Phong กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยมีท่าเทียบเรือที่สามารถรองรับเรือระวางขนาด 50,000 DWT ซึ่งก่อสร้างเสร็จแล้วและมีปริมาณความต้องการจากเรือต่างชาติที่ต้องการใช้บริการจำนวนมาก ผู้บริหารท่าเรือจึงจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพของท่าเทียบเรืออีก 2 แห่งให้สามารถรองรับปริมาณเรือที่ต้องการใช้บริการ

ทั้งนี้ ภูมิภาคภาคกลางตอนล่างจะมีท่าเรือหลัก 5 แห่ง โดยท่าเรือ Quy Nhon จังหวัดบิ่ญดิ่ญสามารถรองรับเรือบรรทุกสินค้าได้ปีละ 18-20 ล้านตัน ท่าเรือ Vung Ro จังหวัดฟู้เอียนสามารถรองรับได้ปีละ 5.8-6.3 ล้านตัน ท่าเรือนิญถ่วนสามารถรองรับได้ปีละ 15.8-17.5 ล้านตันและท่าเรือคั้ญหว่าสามารถรองรับได้ปีละ 15.9-18.6 ล้านตัน

ที่มา: Vietnam News วันที่ 9 กันยายน 2563

https://vietnamnews.vn/economy/772098/seaports-to-foster-south-central-region-economic-development.html